การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ นอกจากทั่วโลกจับตามองว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” หรือ “กมลา แฮร์ริส” ใครจะได้เป็นประธาธิบดีคนใหม่แล้ว ยังจับตาผลกระทบต่อโลกในด้านต่าง ๆ ที่จะตามมา หนึ่งในประเด็นสำคัญคือ ผลต่อประเทศจีนที่ในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี (20 ม.ค. 2560-20 ม.ค. 2564) ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจของสหรัฐกับจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น และดำเนินต่อเนื่องมาถึงสมัยโจ ไบเดน (20 ม.ค. 2564- ปัจจุบัน)
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน สรุปได้ 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1.การขาดดุลการค้ามหาศาลของสหรัฐที่มีต่อจีน และเกิดคำว่า Trade War 2.จีนมีนโยบาย Made in China 2025 (มีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก) เกิดคำว่า Technology War กับสหรัฐ และ 3.ภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์และแฮร์ริส
ทั้งนี้ก่อนทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี(ปี 2559) สหรัฐฯขาดดุลการค้าจีน 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พอทรัมป์ลงจากตำแหน่ง (ปี 2564) สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าจีนเพิ่มเป็น 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยระหว่างการดำรงตำแหน่ง ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10-25% หลายพันรายการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่ในการเลือกตั้งสหรัฐ 2024 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ทรัมป์ประกาศจะเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม 3 ระดับคือ 1.จะเก็บภาษีทุกสินค้าจากทุกประเทศ 10-20% 2.เก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% โดยในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า(EV) จะเก็บภาษี 200% และ 3.จะเก็บภาษีสินค้าจีน 150-200% กรณีหากจีนบุกไต้หวัน
ส่วนในสมัยประธานาธิบดีไบเดน ได้สั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 25-100% ในสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น รถ EV เซมิคอนดักเตอร์ เก็บภาษี 100% และเก็บภาษี 50% สำหรับแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น ส่งผลทำให้ดุลการค้าสหรัฐฯที่ขาดดุลจีนลดลงเหลือ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับนโยบายของแฮร์ริสคาดจะเหมือนกับไบเดน ที่จะไม่ขึ้นภาษีแบบทรัมป์ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อปีของชาวอเมริกันเพิ่มขึ้น แต่แฮร์ริสจะจัดการสินค้าจีนแบบภาษีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ (Targeted and Strategic Tariff) โดยไม่เก็บภาษีทุกชนิด เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคในประเทศ
ขณะที่การลงทุนโดยตรง (FDI) ของสหรัฐฯ ในจีน สมัยทรัมป์ ลดลงไป 11% และสมัยไบเดนลดลงไป 15% โดนสมัยทรัมป์ได้ออกคำสั่งผู้บริหารในปี 2020 ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ลงทุนกับบริษัทที่เกี่ยวข้องทหารจีนและบริษัทที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และกฎหมาย CAATSA (Countering America’s Adversaries Through Sanctions Act) มีอำนาจในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อบุคคลหรือบริษัทที่ทำธุรกิจทางทหารกับจีน
ขณะที่ไบเดน ได้ออกคำสั่งบริหารเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 จำกัดการลงทุนสหรัฐในจีนที่มองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ ในอุตสาหกรรม AI คอมพิวเตอร์ควอนตัม และเซมิคอนดักเตอร์ ในกรณี FDI ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสมีนโยบายตรงกันที่เข้มงวด FDI สหรัฐฯ ไปลงทุนจีนและคาดจะเข้มงวดมากขึ้น
“หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คาดจะออกกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ที่เกี่ยวกับบริษัทจีน ส่วนไบเดนได้ออก Chip and Science Act (CSA) ในปี 2022 สนับสนุนการผลิตชิปในอเมริกา ดังนั้นไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ก็จะต่อต้านจีนเต็มรูปแบบมากขึ้น ซึ่งจีนจะได้รับผลกระทบพอๆ กัน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี ประเทศไทยต้องมองหาโอกาส โดยหากพิจารณาจากนโยบายของแคนดิเดตประธานาธิบดีที่ได้หาเสียงไว้ ในส่วนของโดนัลด์ ทรัมป์ มุ่งโฟกัสการลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมในประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมานั้นจะต้องสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และสามารถทำตลาดเชิงพาณิชย์ไปทั่วโลกได้
ขณะเดียวกันยังสร้างกำแพงกีดกันการค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งไทยต้องมองเป็นโอกาสจากนโยบายดังกล่าว โดยดึงการลงทุนจากภาคการผลิตจีนเข้ามาในไทย โดยภาครัฐจะต้องอำนวยความสะดวกการลงทุนให้สามารถให้บริการแบบเบ็ดเสร็จภายใต้หน่วยงานเดียว
ขณะที่นโยบายของกมลา แฮร์ริส มุ่งเน้นปกป้องงานวิจัยนวัตกรรม บางอย่างที่สำคัญ เช่น AI หรือเซมิคอนดักเตอร์ และต้องการสร้างมาตรฐานออกไปทั่วโลก พร้อมตั้งกำแพงภาษีทุกประเทศเท่าเทียมกันหมด โดยไทยต้องมองเป็นโอกาสความร่วมมือ หรือรวมเป็นกลุ่มกับประเทศในยุโรป หรือเอเชีย เพื่อสร้างอำนาจในการเจรจาต่อรอง รวมถึงการดึงการลงทุนจากสหรัฐฯเข้ามาไทยเพิ่มขึ้น
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัญหาของเศรษฐกิจจีนยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือความกังวลใจต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 เพราะเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ยังสะท้อนว่า “ไม่พ้นน้ำ” เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาอ่อนแอลง มีเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่น่าห่วงหลายตัว เช่น การนำเข้าเติบโตเพียง 0.3% สะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนไม่มีกำลังซื้อ และราคาบ้านปรับตัวลดลง 6-7% ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงติดต่อกันหลายเดือน
อย่างไรก็ดี ทุกวิกฤตจะมีจุด Turning Point หรือจะเจอจุดเปลี่ยนได้ คือการเอาหนี้เข้ากระเป๋าภาครัฐ หากภาครัฐของจีนสามารถบริหารจัดการหนี้เสียได้ ซึ่งจะคล้ายกับวิกฤตต้มย้ำกุ้งปี 2540 ที่เผชิญวิกฤต และสามารถผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวได้ เป็นผลมาจากภาครัฐมีการดูดหนี้เสียออกจากระบบ และเปิดให้มีสภาพคล่องออกมาสู่ระบบ ทำให้หนี้เสียในระบบถูกบริหารจัดการ ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถเดินหน้าเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ดังนั้นทิศทางของจีนครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลจีนเช่นเดียวกัน