ธุรกิจครอบครัวเป็นรูปแบบการเป็นเจ้าของกิจการที่แพร่หลายในภูมิภาคเอเชีย โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 85% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาค และธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่หลายแห่งในเอเชียประสบความสำเร็จในการขยายตลาดสู่ระดับสากลอย่างโดดเด่น นอกจากนี้ยังมีธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมากที่แสดงศักยภาพในฐานะ “born global” หรือธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์มุ่งเน้นการขยายตลาดสู่ต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งกลายเป็นแนวทางที่ผู้นำธุรกิจทั่วโลกต่างยึดถือเป็นแบบอย่าง
การเติบโตของธุรกิจครอบครัวในเอเชียที่ขยายตัวข้ามพรมแดนได้กลายเป็นจุดสนใจของผู้นำธุรกิจทั้งในและนอกภูมิภาค เพราะพัฒนาการนี้อาจกำหนดทิศทางของโลกธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อรูปแบบธุรกิจในระดับสากลอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ปัจจัยด้านประชากรก็มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลาง การขยายตัวของประชากรในหลายประเทศหรือการลดลงในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รวมถึงความเสี่ยงจาก “สมองไหล” (brain drain) ซึ่งเกิดจากการที่ครอบครัวในภูมิภาคนี้ส่งคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อันอาจส่งผลต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัวในระยะยาว
หลักการแบบตะวันตกสามารถนำมาใช้ในโลกตะวันออกได้หรือไม่ เป็นคำถามสำคัญที่ต้องพิจารณาเมื่อศึกษาธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากโอกาสและความท้าทายที่ธุรกิจเหล่านี้เผชิญมีความเฉพาะตัว นักวิจัยจึงได้พัฒนาโครงสร้างกรอบแนวคิดหลายระดับ (multilevel framework) เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการขยายตลาดต่างประเทศของธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคนี้
ทั้งนี้แนวทางของธุรกิจในเอเชียมักสะท้อนถึงความหลากหลายและความขัดแย้งในเชิงนโยบาย เช่น รัฐบาลบางประเทศสนับสนุนการขยายตลาดต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็จำกัดการถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ ปรัชญาจากบริหารงาน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคม ทำให้หลักการจากโลกตะวันตกไม่สามารถนำมาปรับใช้ได้โดยตรง
ความเข้าใจใหม่นำมาซึ่งคำถามใหม่เกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวในเอเชีย การศึกษาธุรกิจครอบครัวในภูมิภาคเอเชียเผยให้เห็นถึงปัจจัยหลายระดับที่ส่งผลต่อกัน เช่น สภาพแวดล้อมของสถาบัน (institutional environment) ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของครอบครัว รวมถึงการที่ธุรกิจครอบครัวถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวเอง มุมมองนี้ชี้ให้เห็นว่า สูตรความสำเร็จจากโลกตะวันตกอาจไม่สามารถนำมาใช้ในเอเชียได้อย่างตรงตัว
อย่างไรก็ตามยังมีคำถามสำคัญที่ควรทำการศึกษาเพิ่มเติม ได้แก่
1) โครงสร้างครอบครัวและลำดับอาวุโส (hierarchy) โครงสร้างครอบครัวที่แตกต่างในแต่ละประเทศและบทบาทของลำดับอาวุโสอาจส่งผลต่อกลยุทธ์การขยายธุรกิจระหว่างประเทศ การศึกษาว่าความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีผลต่อการตัดสินใจและความสำเร็จอย่างไรเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการสำรวจ
2) ความเชื่อถือและความชอบธรรมของทุนทางสังคม (social capital) แหล่งทุนทางสังคม เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม การสนับสนุนจากพันธมิตร และการร่วมมือในองค์กร อาจถูกมองแตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น ในบางประเทศอาจมองว่าการใช้ความสัมพันธ์เพื่อความสำเร็จเป็นสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งการทำความเข้าใจมุมมองที่แตกต่างนี้จะช่วยสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับข้อจำกัดและโอกาสในบริบทระดับโลก
3) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศส่งผลโดยตรงต่อความเป็นไปของธุรกิจครอบครัว เช่น การเติบโตของชนชั้นกลาง หรือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประเด็นนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
การศึกษาและตอบคำถามเหล่านี้จะไม่เพียงช่วยให้เข้าใจธุรกิจครอบครัวในเอเชียได้ดีขึ้น แต่ยังช่วยชี้แนวทางสำหรับอนาคตของเศรษฐกิจโลกในบริบทที่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศมีแนวโน้มปิดกั้นตัวเองจากการค้าโลกมากขึ้น การวางกรอบแนวคิดและกลยุทธ์เฉพาะสำหรับภูมิภาคนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น
ที่มา: Wright, M. (n.d.). 4 things to know about family-owned businesses in Asia. Imperial College Business School. Retrieved November 18, 2024, from https://www.imperial.ac.uk/business-school/ib-knowledge/entrepreneurship-innovation/4-things-know-about-family-owned-businesses-asia/ ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.famz.co.th