เคล็ดลับการนำธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ตอนที่ 1

19 ต.ค. 2567 | 22:31 น.

เคล็ดลับการนำธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ตอนที่ 1 : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่พยายามรักษาอำนาจการควบคุมกิจการไว้ภายในครอบครัว แต่บางครั้งธุรกิจก็ต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญ เช่น การตัดสินใจว่าจะยังคงเป็นธุรกิจครอบครัวธรรมดาหรือจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจุดเปลี่ยนเหล่านี้มักเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรุ่น

การตัดสินใจขายหุ้นหรือถอนตัวจากการเป็นเจ้าของธุรกิจของสมาชิกครอบครัวบางคน หรือเหตุการณ์ภายนอก เช่น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งความยากของการตัดสินใจมักเพิ่มขึ้นตามความผูกพันที่แน่นแฟ้น ของครอบครัวกับธุรกิจ

เคล็ดลับการนำธุรกิจครอบครัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์  ตอนที่ 1

อย่างไรก็ตามการนำธุรกิจครอบครัวเข้าตลาดหลักทรัพย์อาจเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย แม้ว่าครอบครัวจะถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมกิจการเพียงใด แต่ก็ยังต้องเปิดเผยข้อมูลและถูกตรวจสอบจากนักลงทุนอยู่ดี อย่างไรก็ตามการเข้าตลาดหลักทรัพย์มีข้อดีหลายอย่าง เช่น การเข้าถึงเงินทุนเพื่อการเติบโต โอกาสในการซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ไม่สนใจ มีตลาดที่สามารถซื้อขายหุ้นของครอบครัวได้ง่ายขึ้น และมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น เป็นต้น

โดย Jennifer Pendergast ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจครอบครัวจาก Kellogg School แนะนำ 3 แนวทางสำหรับครอบครัวที่กำลังพิจารณาการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ดังนี้

1. เข้าใจเหตุผลในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แม้ธุรกิจครอบครัวแต่ละรายจะมีพลวัตรที่แตกต่างกัน แต่เหตุผลในการสู่ตลาดหลักทรัพย์มักเกี่ยวข้องกับ 2 ปัจจัยหลัก คือ การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือการปรับเปลี่ยนเป้าหมายของครอบครัว โดยบริษัทที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว ลงทุนจำนวนมาก หรือปรับตัวสู้กับคู่แข่ง ก็อาจตัดสินใจเชิงกลยุทธ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อหาทุน

ขณะที่ในอีกทางหนึ่งธุรกิจครอบครัวต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ในแต่ละรุ่น เช่น คนรุ่นใหม่อาจต้องการยุติธุรกิจบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตน หรือสมาชิกครอบครัวบางคนอาจไม่ต้องการมีส่วนร่วมในธุรกิจอีกต่อไป ซึ่งการเสนอขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์สามารถใช้เป็นวิธีในการซื้อหุ้นคืนจากสมาชิกเหล่านั้นได้ เป็นต้น

ดังนั้นสมาชิกครอบครัวทุกคนควรเข้าใจเหตุผลในการเสนอขายหุ้นเพื่อให้สามารถตัดสินใจร่วมกันได้ดีที่สุด และเพื่อบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์หรือเป้าหมายของครอบครัวในอนาคต

2. การจัดการความเสี่ยง การรักษาความเป็นเจ้าของธุรกิจครอบครัวมีข้อดีหลายอย่าง เช่น การควบคุมวิสัยทัศน์ ค่านิยม กลยุทธ์ และวัฒนธรรมของบริษัท ทำให้ธุรกิจครอบครัวมักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าธุรกิจทั่วไป เนื่องจากสามารถมุ่งเน้นการลงทุนระยะยาวในบุคลากร ผลิตภัณฑ์ และชุมชน ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว

 

ที่มา: Fred Schmalz.  2021.  3 Tips for Taking Your Family Business Public.  Kellogg Insight.  Available:https://insight.kellogg.northwestern.edu/article/3-tips-taking-your-family-business-public