วงจรชีวิตธุรกิจครอบครัวและผลกระทบต่อการกำหนดค่าตอบแทนซีอีโอ ตอน 1

21 ธ.ค. 2567 | 22:39 น.

วงจรชีวิตธุรกิจครอบครัวและผลกระทบต่อการกำหนดค่าตอบแทนซีอีโอ ตอน 1 : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

การบริหารธุรกิจครอบครัวนั้นมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการกำหนดเงินเดือนและค่าตอบแทนที่เหมาะสมสำหรับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมักเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเมื่อเกี่ยวข้องกับผู้ก่อตั้ง สมาชิกครอบครัว และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ดังนั้นเพื่อหาจุดสมดุลที่เหมาะสม การใช้ข้อมูลในการตัดสินใจจะช่วยลดอิทธิพลของอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้องได้

อย่างไรก็ตามข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนของผู้บริหารในบริษัทเอกชนมักหาได้ยาก ด้วยเหตุนี้ BDO (หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก) จึงได้เปิดตัว Private Company Executive Compensation Survey ในปีค.ศ. 2023 เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อค่าตอบแทนของ ซีอีโอธุรกิจครอบครัวและช่วยสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของครอบครัวและความสำเร็จของธุรกิจ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

วงจรชีวิตของธุรกิจครอบครัว โครงสร้างค่าตอบแทนในธุรกิจครอบครัวมักมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะต่างๆ ของการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะสำคัญดังนี้

1. การก่อตั้งธุรกิจภายใต้การนำของซีอีโอ: เริ่มต้นจากการที่ผู้ก่อตั้งนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดและวางรากฐานสำคัญ

2. การเติบโตและขยายทีมผู้นำ: เพิ่มสมาชิกครอบครัวหรือผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาในบทบาทผู้นำ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ

วงจรชีวิตธุรกิจครอบครัวและผลกระทบต่อการกำหนดค่าตอบแทนซีอีโอ ตอน 1

3. การเกษียณของซีอีโอและการสืบทอดตำแหน่ง: เมื่อผู้ก่อตั้งเกษียณ และส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกครอบครัวคนอื่นหรือผู้บริหารจากภายนอกมารับช่วงต่อ

4. ความเป็นไปได้ในการขายธุรกิจหรือทำให้มีสภาพคล่อง: พิจารณาทางเลือกในการขายกิจการหรือดำเนินการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของธุรกิจ เช่น การเสนอขายหุ้นแก่สาธารณะหรือการควบรวมกิจการ

ทั้งนี้ในแต่ละระยะของวงจรชีวิตธุรกิจต้องการแนวทางเฉพาะในการออกแบบค่าตอบแทนของซีอีโอ ดังนั้นธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงสร้างค่าตอบแทน รวมถึงการใช้สิ่งจูงใจระยะยาว (Long-Term Incentives) ที่เหมาะสมกับรูปแบบการเป็นเจ้าของ เช่น บริษัทมหาชน ธุรกิจที่ได้รับการลงทุนจาก Private Equity หรือประเภทอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเอาไว้ เพื่อให้ธุรกิจมีความพร้อมสำหรับความสำเร็จในอนาคต

ปัจจัยที่มีผลต่อค่าตอบแทนของซีอีโอบริษัทเอกชน

ขนาดของบริษัท: บริษัทเอกชนที่มีรายได้ระหว่าง 50-100 ล้านดอลลาร์ จ่ายเงินเดือนสูงกว่าบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 25 ล้านดอลลาร์ประมาณ 38% และจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (cash compensation) สูงกว่า 70%

อุตสาหกรรม: ซีอีโอบริษัทเอกชนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ/เภสัชกรรม/การดูแลสุขภาพ จ่ายค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินสูงสุด ขณะที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์จ่ายค่าตอบแทนโดยรวมสูงสุด

สัดส่วนการถือหุ้น: ผู้ที่ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทอยู่แล้วมักให้ความสำคัญกับการได้รับค่าตอบแทนเป็นตัวเงินในระดับที่เหมาะสม และโดยทั่วไปจะไม่ได้คาดหวังการได้รับหุ้นเพิ่มเติม

สถานที่ตั้ง: บริษัทเอกชนในเขตเมืองใหญ่จ่ายค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงินสูงกว่าบริษัทในพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 20%-30%

โครงสร้างการเป็นเจ้าของ: ธุรกิจครอบครัวที่มีมูลค่าระหว่าง 100 ล้านถึง 500 ล้านดอลลาร์ มักให้ค่าตอบแทนเป็นเงินสดสูงกว่าบริษัทเอกชนทั่วไปเล็กน้อย แต่มีค่าตอบแทนรวมโดยตรง (Total Direct Compensation) ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่ที่บริษัทเอกชนทั่วไปมักให้ค่าตอบแทนน้อยกว่าบริษัทมหาชน

โดยเฉพาะในส่วนของค่าตอบแทนรวมโดยตรง เนื่องจากไม่มีหุ้นที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Equity) มาเป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทน ในทางกลับกัน ซีอีโอของบริษัทที่เป็นเจ้าของโดยกองทุน Private Equity มักได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบหุ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของซีอีโอบริษัทเอกชนทั่วไปมาก

 

ที่มา: Judy Canavan, Tristen Dunmire and Blake Head. February 15, 2024. Life Cycle of a Family-Owned Business and the Impact on Structuring CEO Pay. Available: https://www.ggadvisorskc.com/life-cycle-of-a-family-owned-business-and-the-impact-on-structuring-ceo-pay/