เหล็กค้านยกเลิกเอดี 5 ชาติ ผวาทุบ ศก.เสียหายปีละกว่า 9 หมื่นล้าน

20 ก.พ. 2566 | 06:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2566 | 08:03 น.

ผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนร้องระงม บิ๊กจีสตีล-จีเจ สตีล-สหวิริยา ค้านยกเลิกขยายเวลาบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดจากบราซิล อิหร่าน ตุรกี ผวากำลังผลิตส่วนเกินอีกกว่า 13 ล้านตันพร้อมทุ่มตลาดไทย-โลกรอบใหม่ พ่วงจีน มาเลย์ ชี้จะทำชาติเสียหายกว่าปีละ 9 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศพิจารณาขั้นต้นให้ยุติการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจากประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี นำมาซึ่งความไม่เห็นด้วยของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ที่ระบุว่าทั้ง 3 ประเทศยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอีกกว่า 13 ล้านตัน ซึ่งผลดังกล่าวนอกจากจะกลับมาสร้างความเสียหายให้กับผู้ผลิตในประเทศแล้ว ยังอาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศด้วย

นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) 2 ใน 6 ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายสำคัญของประเทศเผยว่า บริษัทฯ ได้จับมือร่วมกับ นิปปอน สตีล คอร์ป ในฐานะผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่อันดับ 5 ของโลกจากญี่ปุ่น โดยได้มีการลงทุนในบริษัทเหล็กทั้ง 2 บริษัทเป็นมูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท เมื่อปี 2565 เพื่อเข้ามาพัฒนาธุรกิจเหล็กในประเทศให้เติบใหญ่ ด้วยการพัฒนายกระดับเหล็กให้มีคุณภาพแข่งขันได้ และจะช่วยลดการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้

ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนรวมในการผลิตเหล็กต่ำลง อีกทั้งเป็นกลุ่มทุนที่มีเครือข่ายด้านการตลาดในอุตสาหกรรมเหล็กเชื่อมโยงไปทั่วโลก โดยนักลงทุนจากญี่ปุ่นมองเห็นศักยภาพของผู้ผลิตเหล็กในประเทศ รวมถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดในประเทศ เนื่องด้วยอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญต่าง ๆ ในประเทศ อาทิ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นเชื่อมั่นในประเทศไทยเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าในประเทศ รวมถึงไม่สนับสนุนการค้าที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติหรือกฎหมายการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง

เหล็กแผ่นรีดร้อน หนึ่งในผลิตภัณฑ์สำคัญของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

อย่างไรก็ดีกรณีที่มีร่างผลการพิจารณาทบทวนการบังคับใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 3 ประเทศข้างต้นที่มีมติให้ยุติมาตรการไปนั้น ได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากสินค้าจาก 3 ประเทศนี้แล้ว ขณะนี้ยังมีการพิจารณาต่ออายุมาตรการสินค้าทุ่มตลาดจากประเทศจีน และมาเลเซียด้วย เฉพาะจากกรณีประเทศจีน ที่ทั่วโลกตระหนักดีว่าเป็นสาเหตุหลักของกำลังการผลิตส่วนเกินของโลก และมีการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กไปทั่วโลก รวมถึงมีพฤติกรรมการหลบเลี่ยงมาตรการโดยการเจือธาตุอัลลอยไม่ให้สินค้าอยู่ในพิกัดศุลกากรของมาตรการ AD ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน

ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากศักยภาพในการส่งออกของทั้ง 5 ประเทศข้างต้น มีกำลังการผลิตส่วนเหลือกว่า 170 ล้านตัน รวมถึงพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนจาก 8 ประเทศทั่วโลก โอกาสที่ประเทศดังกล่าวจะกลับมาทุ่มตลาดไทยหากยุติมาตรการไปนั้นมีสูงมาก และเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หากเป็นเช่นนี้ต่อไปความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่น หรือแม้แต่นักลงทุนประเทศต่าง ๆ ที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศจะสั่นคลอนแน่นอน

นายนาวา  จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเหล็กรายหลักของประเทศ กล่าวว่า ช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาชะลอตัวนี้ ประเทศต่าง ๆ พยายามดูแลปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตน และมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดก็เป็นอีกแนวทางปฏิบัติที่สำคัญ โดยเวลานี้ทั่วโลกมีการใช้มาตรการ AD เฉพาะสินค้าเหล็กมากถึง 503 มาตรการ ตัวอย่างประเทศทุ่มตลาดที่ยังถูกใช้มาตรการ AD สินค้าเหล็กได้แก่ จีน 149 มาตรการ ตุรกี 14 มาตรการ เป็นต้น และในปัจจุบันประเทศบราซิล อิหร่าน และตุรกี อีกกลุ่มประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ยังมีกำลังการผลิตส่วนเหลืออีกกว่า 13 ล้านตัน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งออกของประเทศดังกล่าว

นายนาวา  จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

 

“หากมีการยุติมาตรการ AD จะเกิดช่องว่างให้สินค้าทุ่มตลาดไหลทะลักเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมภายใน และเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน และหากสินค้าจาก 5 ประเทศได้แก่ จีน ตุรกี บราซิล อิหร่าน และมาเลเซีย กลับมาทุ่มตลาดไทย จะสร้างความเสียหายจนทำให้อุตสาหกรรมในประเทศต้องปิดกิจการ”

ทั้งนี้นาวาได้ประเมินผลกระทบที่ตามมาหากอุตสาหกรรมเหล็กเหล็กในประดทศต้องปิดกิจการ ประกอบด้วย ไทยจะเสียการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศที่มีมูลค่ากว่า 10,800 ล้านบาท และหากประเมินการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอีกอย่างน้อย 3 เท่าก็จะเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 32,400 ล้านบาท นอกจากนี้ไทยจะต้องเสียดุลการค้าเพิ่มจากการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มอีก 2 ล้านตันต่อปี คิดเป็นเสียดุลการค้ามูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเมินราคาสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนอย่างน้อย 25,000 บาทต่อตัน (รวมการสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 93,200 ล้านบาทต่อปี)

ด้าน นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศปี 2565 (ม.ค.-พ.ย.) มีการอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียงประมาณ 30% เป็นสินค้าเหล็กทรงยาว 32% (คงที่จากปี 2564) และเหล็กทรงแบน 28.2% (ลดลงจาก 33% ในปี 2564) สาเหตุหลักที่ทำให้ยังคงมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ คือ มีปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินเป็นจำนวนมากในระดับโลกและอาเซียนทำให้เกิดสินค้าทุ่มตลาดนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังคงพบอยู่โดยเฉพาะจากประเทศจีน และเวียดนาม ที่ยังคงมีสินค้าทุ่มตลาดในหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยเฉพาะการส่งสินค้าเหล็กที่เจืออัลลอยเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าของไทยในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาสถาบันเหล็กฯ ได้มีการหารือร่วมกับสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนในการแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับมาตรการของต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป ที่มีการบังคับใช้มาตรการ AD และ มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention : AC) กับสินค้าดังกล่าว หรือแม้แต่การใช้มาตรการ Section 232 ของสหรัฐฯ หรือ Safeguard ของสหภาพยุโรป (อียู)

นอกจากนี้ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 พบว่ามีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AD / CVD) ต่อสินค้าเหล็กสำเร็จรูปถึงประมาณ 200 กรณี และยังอยู่ระหว่างการไต่สวนอีกประมาณ 120 กรณี (แยกตามสินค้า และประเทศที่บังคับใช้) โดยประเทศจีน และเวียดนามเป็นประเทศที่ถูกใช้มาตรการมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

สำหรับประเทศหลักที่ใช้มาตรการตอบโต้เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังให้ความสำคัญในการการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจากการค้าที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเหล็กเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะเชื่อมโยงไปสู่อุตสาหกรรมสำคัญอื่น ๆ