เอกชนปลุกรัฐ คุมเข้มทุนจีน สกัด “ลักไก่” ขยายผลิตเหล็ก

20 พ.ย. 2567 | 21:24 น.

กระแสทุนจีนฟรีเวอร์ไหลเข้าไทยยังไม่แผ่ว และคาดยังมีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ซึ่งแง่บวกของการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนของทุนจีนในไทย ได้ช่วยเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ไทย

เอกชนปลุกรัฐ คุมเข้มทุนจีน สกัด “ลักไก่” ขยายผลิตเหล็ก

แต่อีกมุมเป็นกระแสด้านลบต่อเศรษฐกิจ จากการเข้ามาของกลุ่มทุน “จีนเทา” ที่เข้ามาทำธุรกิจผ่านนอมินี ทั้งล้งจีน ทัวร์ศูนย์เหรียญก่อนหน้านี้ ที่กินรวบทั้งที่พัก ร้านอาหาร ร้านของฝาก ล่าสุดได้เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อขายต่อ หรือปล่อยเช่า การซื้อ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และอื่น ๆ แบบรุกเงียบ

เช่นเดียวกับสินค้าจีนที่ระบาดหนักทุกรูปแบบในประเทศไทย ณ เวลานี้ ตั้งแต่ของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน ยันไปถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่ถูกตีตลาดกระจุย และนับวันยิ่งขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ภาคเอกชนไทยมองอย่างไร มาฟังตัวอย่างเสียงสะท้อนจากตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมที่รับศึกหนักจากการรุกเข้ามาของกลุ่มทุนและสินค้าจีน

“เหล็ก” กระทบหนักขอตัวช่วย

เริ่มต้นจาก นายประวิทย์  หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ Mill ที่ฉายภาพให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดต่อเนื่องมาหลายปี จนขยายวงกว้างขึ้น ในขณะที่การรับมือปกป้องก็เป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการ อีกทั้งยังเจอเล่ห์เหลี่ยมของการเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ

ประวิทย์  หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน)

เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ประกอบการเหล็กทรงยาว ได้ยื่นเรื่องขอขยายเวลาห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้น จากมาตรการเดิมกำลังจะหมดอายุลงในเดือนมกราคม 2568 หลังครบ 5 ปี ที่คุ้มครองเหล็กเส้นภายในประเทศ รวมทั้งขอให้พิจารณาปกป้องเหล็กแผ่นรีดร้อน โดยกลุ่มเหล็กได้ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา เพื่อขอขยายเวลาต่ออีก 5 ปี ล่าสุดยังขอให้มีการปกป้องคุ้มครองเหล็กลวด (ไวรอต) รวมถึงกลุ่มท่อเหล็กชั่วคราวด้วย

เหล็กเส้นเกินความต้องการ 4 เท่า

นายประวิทย์  กล่าวอีกว่า ก่อนหน้าที่จะมีประกาศห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเส้น ระหว่างทางก็มีทุนจีนมาขอใบอนุญาตตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้น ทั้งที่กำลังผลิตในประเทศก็ยังเหลือจำนวนมาก เดิมมีกำลังผลิตเหล็กเส้นที่ขออนุญาตตั้งโรงงาน 11 ล้านตัน รวมทุนจีนโรงใหม่เข้ามาตั้งอีก 1 ล้านตัน รวมเป็น 12 ล้านตัน สถานะเวลานี้ทั้งเหล็กทรงแบนและทรงยาวผลิตได้เพียง 20% ปัจจุบันการบริโภค เหล็กเส้นในประเทศมีเพียง 2.9 ล้านตัน กำลังผลิตในประเทศยังเกินและล้นตลาดอยู่ 3-4 เท่าตัว ส่วนเหล็กทรงแบน ก็ยังต้องต่อสู้กับเหล็กนำเข้า โดยเฉพาะสู้กับเหล็กจีน รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่จีนไปลงทุนแล้วส่งมาขายในไทย

ปัจจุบันกลุ่มทุนจีนในอุตสาหกรรมเหล็กเข้ามาหลายรูปแบบ มีทั้งเทรดเดอร์ไทยและจีน มีทั้งนำเข้าถูกกฎหมายและนำเข้าแบบสำแดงเท็จ เลี่ยงภาษี เลี่ยงมาตรฐานอุตสาหกรรม รวมถึงมีการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในไทยทั้งเหล็กเส้นและกำลังจะผลิตเหล็กแผ่น

จี้ตรวจสอบทุนจีนอาจลักไก่

ที่น่าจับตาโรงงานผลิตเหล็กจากจีนที่เข้ามาตั้งในไทย และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จะมีข้อกำหนดในการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญว่าได้กี่คน แต่จากที่ได้ไปโรงงานจีนมา จะพบว่าตั้งแต่หน้าโรงงาน ไลน์ผลิต กุ๊ก แม่บ้าน ล้วนเป็นคนจีนเกือบทั้งหมด ตรงนี้เป็นการตั้งข้อสังเกต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าไปตรวจสอบให้ดี นอกจากนี้ต้องตรวจสอบทุนจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตเหล็กในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้มีการขยายกำลังผลิตโดยไม่ได้แจ้ง ทางสมาคมเหล็กเส้นจึงแจ้งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมให้ตรวจสอบเรื่องนี้และรอผลตรวจสอบอยู่

“ยอมรับว่าเวลานี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมเหล็กไม่ใช่เฉพาะเหล็กเส้นเหล็กแผ่น แต่ได้ลามไปถึงกลุ่มเหล็กลวด โรงงานผลิตท่อ ทั้งหมดนี้จะขอให้พิจารณาห้ามตั้งห้ามขยายแบบเหล็กเส้น และในส่วนของเหล็กแผ่นรีดร้อนมีมติเห็นชอบห้ามตั้งห้ามขยายในคณะทำงานเหล็กยั่งยืน รอยื่นเรื่องไปยังปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและพิจารณาในครม.ต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ อะไรที่ทำให้เราได้รับผลกระทบจากประเทศที่ปล่อยเสรีระบายสินค้าออกมานอกประเทศ กระทบมาถึงไทย รัฐบาลไทยก็ต้องมีมาตรการปกป้อง อย่าลืมว่าทุกกระทรวงในรัฐบาลมีเครื่องมืออยู่แล้ว ดังนั้นจะหยิบมาใช้เร็วหรือช้า การเมืองก็ต้องนำด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วภาคราชการจะไม่ขยับ รอแต่ข้างบนสั่ง

เครื่องใช้ไฟฟ้าเจอ 2 เด้ง

ด้าน ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล กรรมการบริหาร สภา​อุตสาหกรรม​แห่ง​ประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเลขาธิการ​กลุ่ม​อุตสาหกรรม​ไฟ​ฟ้าและอิเล็​กทรอนิกส์ ส.อ.ท. กล่าวว่า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไม่ค่อยมีผลกระทบจากจีนในทางลบ แต่ที่โดนหนักคือ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่า ส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศ

อย่างไรก็ตาม เครื่องใช้ไฟฟ้าถูก disrupt มาสองครั้ง ครั้งแรกถูก disrupt ทางเทคโนโลยีที่ต้องปรับตัวให้กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบดิจิตัล (จากของเดิมที่เป็นแบบอนาล็อก) แล้วก็มาโดนเรื่องการทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศแบบดัมพ์ตลาดอีก โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูปจากจีน

ดร.วิบูลย์ รักสาสน์เจริญผล กรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ส.อ.ท.

“เวลานี้ เราต้องมามองภาพใหญ่คือเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาด การไปตั้งธงว่าจะแบนประเทศใดประเทศหนึ่งคงไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เราควรจะหาวิธีดีลกับ Anti-Dumping ให้เข้มข้นมากกว่า ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหนก็ต้องทำเรื่อง Anti-Dumping กันอยู่แล้ว ซึ่งรัฐควรจะเร่งเพิ่มความเข้มข้นว่าจะจัดการเรื่อง Anti-Dumping อย่างไร”

สำหรับปี 2568 ทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ ไฟฟ้าคงจะเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทย โดยเฉพาะที่โดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ น่าจะส่งผลดีกับไทยในส่วนของอิเล็กทรอนิกส์