การไม่มีโรงภาพยนตร์ คือ ความเหลื่อมล้ำจริงหรือ

13 ก.ย. 2567 | 04:24 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2567 | 04:34 น.

การไม่มีโรงภาพยนตร์ คือ ความเหลื่อมล้ำจริงหรือ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯ ทัศนะ โดย...ผศ.ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4027

ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “วิมานหนาม” (The Paradise of Thorns) จากค่าย GDH ได้รับความนิยมและคำชมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก ด้วยตัวบทภาพยนตร์ที่นำเสนอมุมมองด้านความไม่เท่าเทียมกันให้กับสังคม ประกอบกับฝีมือการแสดงของนักแสดงนำในเรื่อง และในวันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้อยู่นั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และกำลังทะยานสู่ 150 ล้านบาทในเร็ว ๆ นี้  

ประเด็นที่ผู้เขียนจะชวนผู้อ่านขบคิดในบทความนี้ ไม่ใช่เรื่องของตัวภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องกับสถานที่ที่ดำเนินเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ กับสถานที่จริงที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นการเดินเรื่องในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่จังหวัดตราด 

 

แต่ว่าทั้งสองจังหวัดนั้นกลับไม่มีโรงภาพยนตร์ จนเกิดเป็นกระแสที่ถกเถียงกันทางสังคมออนไลน์ขึ้นมาว่า การที่บางจังหวัดของประเทศไทยไม่มีโรงภาพยนตร์นั้น ถือว่าเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่

ก่อนอื่นเลย อยากจะชวนผู้อ่านได้ทราบถึงความสำคัญของโรงภาพยนตร์กันก่อน โรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในสถานที่ที่สำคัญทั้งในด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และ สังคม โรงภาพยนตร์ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ฉายภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 

โรงภาพยนตร์หลายแห่งตั้งอยู่ในเมือง อยู่ในห้างสรรพสินค้า มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายรอบ ๆ โรงภาพยนตร์ ทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเมือง ส่วนในด้านสังคมนั้น โรงภาพยนตร์ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน เป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนรวมตัวกันเพื่อชมภาพยนตร์ ซึ่งมักจะสร้างช่วงเวลาทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน ให้สมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนมีปฎิสัมพันธ์กันผ่านการชมภาพยนตร์ในโรง 

นอกจากนี้ โรงภาพยนตร์ยังมีบทบาทในภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ห่วงโซ่การจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเข้าฉาย สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก 

และในระดับมหภาค อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์มีบทบาททางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีส่วนช่วยในเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมของประเทศ ดึงดูดการท่องเที่ยวผ่านเทศกาลภาพยนตร์ และเสริมสร้างชื่อเสียงทางวัฒนธรรมของประเทศ

สิ่งที่จะอธิบายได้ว่า การที่จังหวัดหนึ่งมีโรงภาพยนตร์ แต่อีกจังหวัดหนึ่งไม่มีโรงภาพยนตร์นั้น สามารถสะท้อนถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน (inequality) หรือ ความแตกต่างด้านความเป็นอยู่ (disparities in well-being) ได้หรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องพิจารณาถึงสาเหตุก่อนว่า เพราะเหตุใดบางจังหวัดถึงไม่มีโรงภาพยนตร์ 

ในกรณีของประเทศไทย โรงภาพยนตร์เป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยเอกชนเป็นหลัก ดังนั้น การสร้างโรงภาพยนตร์ในจังหวัดใดนั้น จึงเป็นการตัดสินใจของภาคเอกชน ที่จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) เสียก่อน เช่น การวิเคราะห์ตลาด ศึกษาข้อมูลโครงสร้างของประชากรในจังหวัด อายุ รายได้เฉลี่ย พฤติกรรมการบริโภคความบันเทิง ทำเลที่ตั้ง 

รวมไปถึงการวิเคราะห์ต้นทุนและการคาดการณ์รายได้ เป็นต้น ซึ่งถ้าพบว่า ผลตอบแทนจากการประกอบการไม่คุ้มกับการลงทุน โรงภาพยนตร์ก็ไม่เกิดขึ้น ประชาชนในจังหวัดคงไม่สามารถเรียกร้องให้ภาคเอกชนมาสร้างโรงภาพยนตร์ได้ ซึ่งผลกระทบจากการไม่มีโรงภาพยนตร์นั้นมีดังต่อไปนี้

1.ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสินค้าทางวัฒนธรรมและบริการ

โรงภาพยนตร์ไม่ได้เป็นแค่สถานที่ชมภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่วัฒนธรรมที่สำคัญ ซึ่งมอบประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและศิลปะหลากหลาย การมีหรือไม่มีโรงภาพยนตร์ในจังหวัดหนึ่งสามารถสร้างความแตกต่างได้ในหลาย ๆ ด้านดังนี้:

•การเข้าถึงความบันเทิง : โรงภาพยนตร์เป็นหนึ่งในแหล่งความบันเทิงหลักของสังคมสมัยใหม่ สำหรับบางคนแล้ว อาจจะเป็นโอกาสเดียวที่คนในพื้นที่จะได้สัมผัสภาพยนตร์ใหม่ ๆ บนจอใหญ่ การไม่มีโรงภาพยนตร์จึงทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมความบันเทิงนี้ได้ ซึ่งอาจมองว่าเป็นความแตกต่างในการเข้าถึงกิจกรรมยามว่าง (leisure activities)

•ประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและสังคม : บางครั้งโรงภาพยนตร์ไม่ได้ฉายแค่ภาพยนตร์กระแสหลักเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพยนตร์อิสระและภาพยนตร์นานาชาติ เทศกาลภาพยนตร์ และการฉายภาพยนตร์เพื่อการศึกษา ภาพยนตร์สารคดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสกับวัฒนธรรม ความคิด และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เปิดหูเปิดตาให้กับผู้ชม การขาดโอกาสในการเข้าถึง อาจทำให้ผู้คนในจังหวัดที่ไม่มีโรงภาพยนตร์มีโอกาสในการเสริมสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่น้อยลง

•ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม : โรงภาพยนตร์ยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวกัน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน และสร้างช่วงเวลาทางวัฒนธรรมที่มีร่วมกัน การขาดโรงภาพยนตร์อาจทำให้ผู้คนในจังหวัดเสียโอกาสในการเข้าสังคม เช่น การมีโอกาสในการพบปะกับคนอื่น ๆ เพื่อน ๆ สมาชิกครอบครัว และมีส่วนร่วมในประสบการณ์ร่วมกัน

2.ความแตกต่างด้านความเป็นอยู่

การเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมและความบันเทิง เป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มคุณภาพชีวิต การบริโภคความบันเทิง ซึ่งหมายถึงการชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ มีส่วนช่วยในการยกระดับความเป็นอยู่ดังนี้:

•การผ่อนคลายและลดความเครียด : ความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ จะช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายและลดความเครียด ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ การที่ผู้อยู่อาศัยในจังหวัดหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงโรงภาพยนตร์ได้ อาจทำให้พวกเขามีโอกาสในการผ่อนคลายที่น้อยลง

•การส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม : โรงภาพยนตร์เป็นช่องทางสู่การมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น การชมภาพยนตร์สามารถกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้สัมผัสมุมมองที่แตกต่าง ได้รู้จักแวดวงบันเทิงของไทยและของต่างประเทศ การขาดโอกาสในการเข้าถึงประสบการณ์เหล่านี้ อาจลดความรู้ทางวัฒนธรรมและทำให้โลกทัศน์แคบลง

                            การไม่มีโรงภาพยนตร์ คือ ความเหลื่อมล้ำจริงหรือ

•การสนับสนุนชีวิตชุมชนและสังคม : การชมภาพยนตร์กับครอบครัวหรือเพื่อน และการสนทนา การวิเคราะห์ วิจารณ์ภาพยนตร์ร่วมกันหลังจากชมภาพยนตร์ ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความเป็นอยู่ การขาดโรงภาพยนตร์ในจังหวัดอาจส่งผลให้เกิดการโดดเดี่ยวทางสังคมหรือการขาดประสบการณ์ชุมชนร่วมกัน

แต่ถ้าถามว่าปัญหานี้จัดเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันที่ร้ายแรงหรือไม่ การขาดโรงภาพยนตร์ในจังหวัดหนึ่งเมื่อเทียบกับอีกจังหวัดหนึ่ง สามารถสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสินค้าทางวัฒนธรรมได้ก็จริง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของความไม่เท่าเทียมกันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น

•การมีทางเลือกอื่น : หากจังหวัดที่ไม่มีโรงภาพยนตร์ แต่ว่ามีรูปแบบความบันเทิงอื่น ๆ แทน เช่น การจัดมหรสพท้องถิ่น คอนเสิร์ตกลางแจ้ง หรือการเข้าถึงความบันเทิงดิจิทัล (เช่น แพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง) การขาดโรงภาพยนตร์ก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาความแตกต่างที่รุนแรงมากนัก

•ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ : หากจังหวัดที่ไม่มีโรงภาพยนตร์แยกตัวจากจังหวัดอื่น ๆ โดยต้องเดินทางไกลเพื่อไปยังโรงภาพยนตร์ ความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงความบันเทิงทางวัฒนธรรมจะเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น แต่หากจังหวัดนั้นอยู่ใกล้กับจังหวัดข้างเคียงที่มีโรงภาพยนตร์ ความแตกต่างนี้อาจไม่รุนแรงมากนัก

•ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม : การไม่มีโรงภาพยนตร์อาจเป็นจุดเริ่มต้น ที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ใหญ่ขึ้น เช่น จังหวัดที่ไม่มีโรงภาพยนตร์ก็อาจจะยังขาดบริการสำคัญอื่น ๆ อีกด้วย เช่น การศึกษา การเข้าถึงสถานพยาบาล หรือการขนส่งสาธารณะ ซึ่งยิ่งแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในเชิงโครงสร้างที่ลึกยิ่งขึ้น

ถ้าภาครัฐมองว่าการเข้าถึงทางวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่โดยรวมของประชาชนได้แล้ว ปัญหานี้ก็อาจถูกแก้ไขได้ผ่านนโยบายที่ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น

•การให้เงินอุดหนุนสถานที่ทางวัฒนธรรม : รัฐบาลอาจให้แรงจูงใจในการสร้างโรงภาพยนตร์ หรือ สถานที่ทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ในจังหวัดที่ขาดการเข้าถึงความบันเทิง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเหมือนกันในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรม

•การขยายการเข้าถึงดิจิทัล : ในพื้นที่ที่การสร้างโรงภาพยนตร์อาจไม่สามารถทำได้ การขยายการเข้าถึงแพลตฟอร์มความบันเทิงดิจิทัลอาจช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันในการบริโภคความบันเทิงบางส่วน

•หนังกลางแปลงหรือการจัดฉายภาพยนตร์ชั่วคราว : เพื่อตอบสนองช่องว่างด้านความบันเทิงในพื้นที่ชนบท หรือจังหวัดเล็ก ๆ การใช้โรงภาพยนตร์เคลื่อนที่ หนังกลางแปลง หรือ การจัดฉายภาพยนตร์ชั่วคราวอาจช่วยนำสินค้าทางวัฒนธรรม ไปสู่ชุมชนที่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานถาวร อย่างเช่นที่เคยมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น 

กล่าวโดยสรุป การที่จังหวัดหนึ่งไม่มีโรงภาพยนตร์เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น อาจสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสินค้าทางวัฒนธรรม ซึ่งอาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยได้ ถึงแม้ว่ามันอาจไม่ใช่เรื่องที่เร่งด่วนเท่ากับความไม่เท่าเทียมกันในด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล หรือความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ แต่การเข้าถึงประสบการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างการชมภาพยนตร์ ก็เป็นส่วนสำคัญของคุณภาพชีวิต 

ดังนั้น เป็นไปได้ที่จะมองว่า นี่เป็นความแตกต่างด้านความเป็นอยู่ (Disparities in well-being) การแก้ไขความไม่เท่าเทียมเหล่านี้ผ่านนโยบายของภาครัฐ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การเข้าถึงดิจิทัล ก็จะสามารถช่วยส่งเสริมความครอบคลุมทางวัฒนธรรมและยกระดับความเป็นอยู่ในทุกจังหวัดได้เช่นกัน