แม้ว่าในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยจะสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ได้ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคครัวเรือน ที่เป็นผลมาจากการก่อหนี้ส่วนบุคคลที่สูงเกินไป
รวมถึงภาคการผลิตมีการใช้ปัจจัยการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยขาดจิตสำนึกต่อผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศ
อีกทั้งอัตราการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติกลับไม่สามารถชดเชยอัตราการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ หากรัฐไม่กำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อแทรกแซงการทำงานของระบบเศรษฐกิจอย่างทันท่วงทีแล้ว ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน และจะส่งผลย้อนกลับต่อความเสี่ยงเชิงระบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความอยู่ดีกินดีของภาคเอกชนและภาคครัวเรือนอย่างรุนแรงในอนาคต
ดังเช่นที่ Milton Friedman เสนอไว้ว่า ความยากลำบากของเอกชน ที่กลายเป็นรากฐานอันมีเหตุมีผลของความเป็นประเด็นปัญหาสาธารณะ ที่จักต้องได้รับการแก้ไขให้หมดไปด้วยทรัพยากรสาธารณะนั้น จำเป็นที่จะต้องได้รับการครุ่นคิดภายใต้กรอบแนวคิดของ “ความล้มเหลวของตลาด (Market Failure)”
เฉกเช่นเดียวกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นผลลัพธ์โดยตรงจากความล้มเหลวของตลาด กล่าวคือ ตลาดไม่สามารถหรือยากที่จะดำเนินการเรียกเก็บต้นทุนที่แท้จริงจากผู้บริโภคสินค้าต่างๆ ที่มีผลกระทบแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ตลาดแทบจะไม่สามารถเรียกเก็บต้นทุนมลพิษที่เกิดขึ้นจากผู้ขับขี่ยานพาหนะประเภทเครื่องยนต์สันดาปที่ปล่อยมลพิษสู่ระบบนิเวศได้ เป็นต้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) รวมถึงเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสะอาดในราคาที่ย่อมเยา (Affordable and Clean Energy) การสร้างหลักประกันให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
หรือ การมุ่งระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำ (Climate Action) เป้าหมายเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการผลักดันให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
เฉกเช่นนโยบายสาธารณะด้านอื่นๆ นโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมก็ถูกกำหนดตามขั้นตอนดังกล่าว หากแต่ว่าในประเทศไทยนั้น นโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่งได้รับความสนใจเมื่อไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมลงนามร่วมเป็นภาคีของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)
และในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมกรอบข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยการมอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีเพื่อการมีส่วนร่วม ในการลดก๊าซเรือนกระจก และดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลก (National Determined Contribution: NDC) โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 20 - 25 ภายในปี พ.ศ. 2573
แต่หากมองย้อนกลับไปเพื่อประเมินประสิทธิภาพของนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม ในสองทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า นโยบายส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลว หรือนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของไทยผิดตั้งแต่แรกเริ่มของกระบวนทัศน์จนถึงวิธีการปฏิบัติ และยังไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
นโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมของไทยมักจะถูกมองว่า เป็นตัวถ่วงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลจึงแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยขาดสำนึกว่า สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายจากการบริโภคจะนำมาซึ่งความหายนะของระบบเศรษฐกิจในที่สุด
กรอบแนวคิดในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมควรเริ่มต้นว่า สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจำต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันแบบ Non-zero Sum Game แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ
แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวกลับตกอยู่กับกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ติดตั้งและนำเข้าแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ซึ่งมุ่งเน้นการให้ผลประโยชน์กับผู้ประกอบการในธุรกิจแผงแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ หาใช่ผู้บริโภคอย่างโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
ดังนั้น กรอบแนวคิด “คนทำเป็นคนรับผิดชอบ” หรือ “Polluter Pays Principal” จึงเป็นกรอบแนวคิดที่น่าจะเหมาะสม เนื่องจากสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบตลาด และสนับสนุนให้กลไกตลาดจัดสรรทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังเช่นความสำเร็จในการจัดการขยะครัวเรือนในประเทศไต้หวันที่ใช้นโยบาย Pay As You Throw จนสามารถลดปริมาณขยะต่อคนลงถึงร้อยละ 31
หากพัฒนากรอบแนวคิดของนโยบายการเงินที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หาใช่เพียงอุตสาหกรรม บรรษัท หรือครัวเรือนเท่านั้น ที่ปล่อยมลพิษโดยตรงสู่สิ่งแวดล้อม แต่ต้องหมายความรวมถึงสถาบันการเงิน หรือ ผู้สนับสนุนเงินทุนที่ทำให้อุตสาหกรรมเติบโตให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและรับผิดชอบปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
ซึ่งน่าจะเป็นกรอบแนวคิดของการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านการเงินและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสอดคล้องกับการบริหารเศรษฐกิจในทุกวันนี้
หากวิเคราะห์บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลภาคการเงิน จะเห็นได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นกลไกสำคัญในอันที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิผล หากธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายและนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
โดยการผลักดันให้ภาคการเงินต้องประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมของการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบและจริงจัง และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัว และลดกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะต้องวัดผลสัมฤทธิ์ได้และสามารถติดตามขั้นของความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ช่วงเปลี่ยนผ่านของการปรับตัวจะต้องไม่ส่งผลกระทบเชิงลบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง ท้ายที่สุดแล้ว การจัดสรรเงินทุนให้แก่ธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบจะเป็นกรอบการดำเนินงานที่สำคัญ ที่จะสะท้อนและมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้นแก่สังคมส่วนรวมอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ : บทความนี้ดัดแปลงจากเอกสารข้อเสนอนโยบายของทีม “นี้ไม่มาหรอคะ” ในการแข่งขัน Policy Hackathon ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย