*** ชัดเจนแล้วว่า การก้าวขึ้นมานั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารใน ของ “วิรัช มรกตกาล” และการลาออกจากทุกตำแหน่งในบริษัท ทำให้ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ได้ตำแหน่งของ “อดีตผู้บริหาร” ขณะที่การประกาศเพิ่มทุนขึ้นอีกถึง 150% จากทุนจดทะเบียนเดิม ก็ได้ทำให้ “ชูเกียรติ” ได้รับตำแหน่งเป็น “อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่” เพิ่มเข้ามาอีกตำแหน่ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ทำให้ SABUY แตกต่างไปจากเดิม และนับจากนี้ SABUY จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ...เจ๊เมาธ์เคยบอกเอาไว้แล้วว่าจะเล่าให้ฟัง!!!
อย่างแรกคือ การที่ SABUY ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจำนวนไม่เกิน 2,510,000,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิมจำนวน 2,061,370,366 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 4,571,370,366 บาท โดยแบ่งออกได้ดังนี้
1.Lightnet Pte.Ltd. จำนวน 1,200,000,000 ล้านหุ้น ราคาจองซื้อหุ้นละ 2.30 บาท หรือ คิดเป็น 39.13% ต่อทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน โดยที่ทาง Lightnet มี นายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ถือหุ้นในสัดส่วน 69.54% และ นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 12.09%
2.นายอานนท์ชัย วีระประวัติ จำนวน 100,000,000 หุ้น ราคาจองซื้อหุ้นละ 2.30 บาท หรือคิดเป็น 3.26% ต่อทุนชำระแล้วหลังเพิ่มทุน ทั้งนี้ในปัจจุบัน นายอานนท์ชัย เป็นถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 และการจัดสรรหุ้น PP ดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,990,000,000 ล้านบาท
3.จัดสรรเพื่อรองรับการใช้สิทธิของหลักทรัพย์แปลงสภาพ (Warrant) ที่จะออกใหม่ (SABUY-W3) จำนวน 1,210,000,000 หุ้น
จะเห็นได้ว่า การเพิ่มทุนในจำนวน 1,300 ล้านหุ้น ของ SABUY ในครั้งนี้ ทำให้ Lightnet Pte.Ltd. ซึ่งมี “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SABUY ตามไปด้วย ทำให้ “ชูเกียรติ” ถูกปรับลงไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่สอง
ขณะที่ “อานนท์ชัย วีระประวัติ” ซึ่งเดิมเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่สอง แม้จะมีจำนวนหุ้นเพิ่มเข้ามาอีก 100 ล้านหุ้น แต่ก็ยังต้องลดระดับลงไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่สาม
อย่างที่สองก็คือ ประเด็นเรื่องนามสกุล “เจียรวนนท์” ของนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ เป็นเสมือนสัญญาณที่บอกว่า นี่คือ การเข้ามาของ “ทุนใหญ่” จากฝั่งของ “ซีพี” ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช้สายตรงของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” แต่ก็ยังถือว่าความเป็น “เจียรวนนท์” ของนายชัชวาล ก็ไม่ธรรมดา
และแน่นอนว่าการเข้ามา “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” เป็นการมาพร้อมกับ “ทุนใหม่” ที่จะถูกอัดเข้าไปในระบบของ SABUY คิดเป็นเงินกว่า 2.76 พันล้านบาท ซึ่งนั้นเพียงพอที่จะ “ปลดล็อค” สิ่งที่นักลงทุนกังวลว่า SABUY อาจจะต้องขายสินทรัพย์ เพื่อนำเงินมาใช้หนี้หุ้นกู้ที่กำลังจะครบกำหนด เพราะด้วยเงินจำนวนนี้ จะทำให้ SABUY แทบจะจบปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องในช่วงเวลา 1-2 ปีข้างหน้าได้เลย
อย่างที่สามเป็นเรื่องของ SABUY-W3 จำนวน 1.21 พันล้านหน่วย ในราคาการใช้สิทธิ 3.00 บาทต่อหุ้น อายุใบสำคัญแสดงสิทธิ 5 ปี แบ่งออกเป็น Lightnet Pte. Ltd. จำนวน 800 ล้านหน่วย นายอานนท์ชัย วีระประวัติ จำนวน 60 ล้านหน่วย และ Hiwell Global Co., Ltd จำนวน 350 ล้านหน่วย ซึ่งหากใบแสดงสิทธิเหล่านี้ถูกแปลงสิทธิก็จะทำให้ “กลุ่มเจียรวนนท์” ในสายของ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” กลายเป็นผู้คุมบังเหียนของ SABUY ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เด็ดขาดซะจนแทบจะไม่เหลือช่องว่างให้กับ “ชูเกียรติ รุจนพรพจี” ได้กลับมาเงยหน้าใน SABUY ได้อีก
ท้ายที่สุดเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ที่ได้จากการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน SABUY ของ “กลุ่มซีพี” ในสายของ “ชัชวาล” ที่ถึงแม้ว่าจะไม่สายตรงของ “เจ้าสัวธนินท์” แต่การได้เป็นผู้ครอบครองบริษัทซึ่งมีระบบ Ecosystem ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางธุรกิจของ “เครือซีพี” ก็จะเป็นการต่อยอดความสำเร็จให้กับธุรกิจ ในฐานะพันธมิตรของซีพีได้ง่ายกว่าปกติอย่างไม่ต้องสงสัย
ขณะเดียวกัน นอกจากการที่ทุนใหม่ภายใต้การนำของ “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” จะได้ Ecosystem ที่มีอยู่แต่เดิมของ SABUY ก็ยังได้มีพันธมิตรรายใหม่อย่าง MGI ที่ถูกพ่วงเข้ามาเพราะ “ติดดอย” เนื่องจากเพิ่งจะเข้ามาซื้อหุ้นของ SABUY จำนวนถึง 30 ล้านหุ้น ในราคาที่สูงถึง 4.50 บาท/หุ้น เข้ามาช่วยส่งเสริมระบบ Ecosystem ที่มีอยู่แล้วของ SABUY ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
แต่เจ๊เมาธ์บอกตรงๆ เลยว่าถึงอย่างไรเจ๊ก็ยังเชื่อว่า การที่ MGI เข้ามาซื้อหุ้นของ SABUY ต้องไม่ใช่เรื่องบังเอิญ...แต่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกวางแผนเอาไว้ดีแล้ว เพียงแต่จะมีการคุยกันในรูปแบบใดนั้น ก็เป็นอีกเรื่องที่ยังจะต้องดูกันไปยาวๆ เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้เองเจ้าค่ะ