*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,895 ระหว่างวันที่ 11-14 มิ.ย. 2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** วันนี้ขอไปเริ่มต้นกันเกี่ยวกับเรื่อง “รถไฟฟ้า” หลังจากการเลือกตั้งยุคใหม่ได้จบลงไปแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงค้างคา และดูถ้าจะเป็นมหากาพย์ ที่หาตอนจบของเรื่องราวทั้งหมดได้ยาก เห็นจะเป็นเรื่องของภาระหนี้ ที่ “คีรี กาญจนพาสน์” เจ้าสัวแห่งบีทีเอส ต้องแบกรับภาระการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย เหนือ-ใต้ ที่ฟรีมาอย่างต่อเนื่องเกือบจะ 4 ปี และยอดหนี้ ณ ขณะนี้ สูงถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ใครหลายคนคาดหวังว่า “รัฐบาลใหม่” จะสะสางเรื่องราวต่าง ๆ ได้
คีรี เปรยสั้น ๆ ว่า "ผมอดทน พูดตรง ๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็คงอดทนไม่ไหว ...ผมเป็นคนที่ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถือว่ารับอยู่คนเดียว ผมก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลเข้าใจจุดนี้หรือไม่ ไม่แน่ใจว่า กทม. เข้าใจจุดนี้หรือเปล่า มันไม่สมควรครับ ถ้าจะให้เอกชนฝ่ายเดียวรับไปเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งอาจจะทำให้ผู้โดยสารลำบาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น”
*** เชื่อว่าใครไม่ลองมาอยู่จุดนี้อาจไม่เข้าใจ แต่ที่ผ่านมา ตามสื่อต่างๆ เรายังคงเห็นความมุ่งมั่นที่รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังให้บริการอย่างต่อเนื่อง ผู้โดยสารส่วนใหญ่ยังคงชมการให้บริการ รวมถึงสายรถไฟฟ้าสายน้องใหม่ล่าสุดของครอบครัวบีทีเอส...อย่าง รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่ตอนนี้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้ ตั้งแต่สถานีหัวหมาก ถึง สถานีสำโรง ก็แว่วว่า “คีรี” เร่งรัดให้เปิดเดินรถเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้ โครงการนี้เอกชนเร่งงานจนรัฐบาลได้หน้าเต็มๆ ยังไงหนี้สินของ “เอกชน” ก็อย่าทิ้งนาน จนกลายเป็นดินพอกหางหมูเลยนะ...
*** หันไปดูเรื่องราวของ “รัฐบาลใหม่” กันหน่อย ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วยพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย เพื่อไทรวมพลัง เสรีรวมไทย เป็นธรรม และ พลังสังคมใหม่ ได้ร่วมหารือกัน โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ออกมาอัพเดทถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า หัวหน้าพรรค 8 พรรค เห็นตรงกันว่า น่ายินดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรีบทำงาน รับรอง ส.ส.ให้ได้เร็วที่สุด 95% ถ้าเป็นไปอย่างประธานกกต.ให้สัมภาษณ์ไว้ หรือ แม้แต่สื่อเคยทำไทม์ไลน์ขึ้นมาว่า 13 ก.ค. 66 เป็นวันสุดท้าย
หลังจากนั้นจะมีกระบวนการต่อมา ส.ส.รายงานตัว เปิดประชุมสภาฯเลือกประธานสภาฯ และ เลือกนายกฯ และมีการถวายสัตย์ฯ ต่อไปนั้น ก็เห็นตรงกันว่า น่าจะเลื่อนเข้ามาเร็วมากขึ้น 2-3 สัปดาห์ โดยหัวหน้าพรรคทุกคนต้องเตรียมพร้อมจัดเตรียมนโยบายแถลงต่อรัฐสภา เมื่อดูการเปลี่ยนผ่านงบประมาณ ที่น่าจะเข้าสภา ช่วง ส.ค.-ก.ย. ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ก็จะมีการบริหารจัดการงบกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลประชาชนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราจะขยับไทม์ไลน์
*** สำหรับไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาล ก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์กันไว้ จะเป็นดังนี้ 13 ก.ค. 2566 กกต.รับรองผลเลือกตั้ง ส.ส., 20 ก.ค. ครม.พิจารณาพ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาฯ และเป็นวันสุดท้ายให้ส.ส.รายงานตัว ถัดไป 24 ก.ค. มีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา, 25 ก.ค. เลือกประธานสภาฯ, 26 ก.ค. โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ, 3 ส.ค.โหวตเลือกนายกฯ, 10 ส.ค.แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี, 11 ส.ค. ครม.ถวายสัตย์ปฏิญาณ และเป็นวันสุดท้ายของครม.รักษาการ ภายใต้การนำของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
*** นั่นคือไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลที่วางกันไว้ แต่ไทม์ไลน์จะคาดเคลื่อนไปจากนี้หรือไม่ ก็ต้องรอดูว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่มี “พรรคก้าวไกล” เป็นแกนนำจะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางได้สำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก๊อกแรกจะฝ่าด่าน กกต. และ ศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องถือครองหุ้นสื่อ ITV ได้หรือไม่
และอีกด่านคือ จะฝ่าบรรดาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในการโหวตสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ เพราะ พิธา ยังต้องพึ่งเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง จากที่มี ส.ส.หนุนอยู่ 312 เสียง ถึงจะได้ 376 เสียง เพียงพอที่จะดันให้ขึ้นสู้เก้าอี้นายกฯ ได้สำเร็จ
แต่ถ้า “รัฐบาลก้าวไกล” มีอันอับปางลง ไทม์ไลน์ที่ว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ประมาณ 11 ส.ค. 2566 ก็อาจคลาดเคลื่อนเลื่อนออกไปอีก ยิ่งตั้งรัฐบาลใหม่ได้ช้าเท่าไหร่ ผลเสียก็จะตกกับประเทศชาติมากขึ้น เพราะไม่มีรัฐบาลตัวจริงที่มีอำนาจเต็มเข้ามาออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่ประชาชน และประเทศชาติประสบอยู่ นั่น คือ ปัญหาเรื่องปากท้อง และ เศรษฐกิจ ที่ขณะนี้เกิด “สุญญากาศ” แม้จะมี “รัฐบาลรักษาการ” อยู่ แต่ก็ทำอะไรได้ไม่มาก ประเทศชาติเสียโอกาสการพัฒนา ประชาชนที่รอคอยความหวังการแก้ปัญหา เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ก็ยังต้องตั้งหน้าตั้งตา รอคอยกันต่อไป...