เปิดเบื้องหลังถกบอร์ดเงินดิจิทัล “นายกฯ”ไม่แฮปปี้อะไร

16 ก.ค. 2567 | 00:00 น.

เปิดเบื้องหลังถกบอร์ดเงินดิจิทัล “นายกฯ”ไม่แฮปปี้อะไร : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4010

*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4010 ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย 

*** ไปติดตามกันต่อกับความคืบหน้า “โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ของ “รัฐบาลเศรษฐา” ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้เปิดเผยผ่าน X (ทวิตเตอร์) ว่า “ดิจิทัลวอลเล็ตพร้อม เปิดลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้”

พร้อมระบุว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่วันนี้ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดลงทะเบียน และการดำเนินการในภาพรวมที่จะรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้า โดยมีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมไปถึงการลงรายละเอียดเงื่อนไขของการรับสิทธิ์ และมาตรการป้องกันการทุจริต การเรียกเงินคืนให้ชัดเจนขึ้น 

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือ โครงการใหญ่ของภาครัฐที่จะเติมเงินกระเป๋าพี่น้องประชาชน ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เพื่อความละเอียดรอบคอบทั้งทางกฎหมาย และทางเทคนิค โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ทำให้ใช้เวลาดำเนินการมากหน่อย “โครงการนี้พี่น้องไม่ต้องคอยเก้อแน่นอนครับ" 

*** อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากที่ประชุม “บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต” ว่า นายกฯ ไม่แฮปปี้ เพราะยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ แม้จะปรับลดโครงการที่ต้องใช้เงิน จาก500,000 ล้านบาท เหลือ  450,000 ล้านบาท แต่ยังขาดงบประมาณอีก 175,300 ล้านบาท ที่ตั้งเป้าดึงจากงบกลาง ปี 2567 จำนวน 43,000 ล้านบาท และ ต้องหาอีก 132,300 ล้านบาท ซึ่งกำลังดูอยู่ว่าจะเอามาจากไหน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ต้องไป “แปรญัตติ” เอาจากงบประมาณปี 2568 โดยไปตัดลดงบจากกระทรวงต่าง ๆ มา “โปะเงินดิจิทัล” และใส่ “งบกลาง” เพิ่มเข้าไปอีก เพื่อให้เพียงพอสำหรับ 450,000 ล้านบาท 

*** อีกเรื่องที่นายกฯ ยังไม่พอใจคือ กรณี “สินค้า” ที่จะกำหนดว่า อะไรที่ห้ามซื้อบ้าง (Negative List) ก็ยังไม่ชัดเจน จึงต้องเร่งให้กระทรวงพาณิชย์ไปกำหนดออกมาให้เร็วที่สุด นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่ทำให้ นายกฯ ถึงกับ “โกรธ” ก็คือ “ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ” ไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต แต่กลับส่ง รองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เข้าร่วมประชุมแทน และได้นำหนังสือของ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ที่มีถึงนายกฯ มาอ่านให้ฟัง ซึ่งเป็นข้อสังเกตเรื่อง วินัยการเงิน การคลัง และ ความปลอดภัยของ แอปพลิเคชั่น ที่ใช้โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต

*** ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ได้ออกมาชี้แจงถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะตัดแหล่งเงินจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รวม 4.5 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับ 45 ล้านคน ส่วนไทม์ไลน์โครงการนั้น นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้แถลงในวันที่ 24 ก.ค.นี้ อีกครั้ง เบื้องต้นกรอบของโครงการยังไม่เปลี่ยน คือ ลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 และ โอนเงินให้ประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี 2567  

*** ส่วนรายละเอียดของร้านค้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ บอกว่า ที่ประชุมได้ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาความยืดหยุ่นของการจัดทำรายการข้อห้าม/ข้อจำกัด (Negative List) ของสินค้าที่จะเข้าร่วมในโครงการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความจำเป็น รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขของผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งร้านค้า และ ประชาชน หากเป็นผู้ที่เคยกระทำความผิดในโครงการรัฐโครงการใดโครงการหนึ่งมาก่อน หรือ ถูกฟ้องร้องเรียกเงินคืน จะถูกตัดออกจากโครงการทันที เพราะถ้าให้สิทธิไปก็มีความเสี่ยงที่จะกระทำความผิดซ้ำได้

*** ไปปิดท้ายที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานข่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยกำลังน่าห่วง จากการปิดโรงงานและถูกเลิกจ้าง โดยยกกรณีโรงงานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น อย่าง “ซูซูกิ” ที่ย้ายฐานการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะของบริษัทอื่นๆ ในประเทศเช่นกัน ตอนนี้ไทยต้องแบกรับปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีน และความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมที่ลดลง จากปัจจัยแรงงานวัยทำงานที่มีอายุมากขึ้น และ ต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์ เสนอสถิติเช่นเดียวกับที่สื่อไทยเสนอข่าวว่า มีการปิดโรงงานไปเกือบ 2,000 แห่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตซึ่งมีส่วนในการช่วยส่งเสริมจีดีพีของประเทศ เกือบ 1 ใน 4 ได้รับผลกระทบ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ข้อมูลจากกรมโรงงานระบุว่า การปิดโรงงานเพิ่มขึ้น 40% จากช่วง 12 เดือนก่อนหน้า (จากเดือน ก.ค. 66 ถึง มิ.ย. 67) ส่งผลให้มีตำแหน่งงานหายไปถึง 80% ในช่วงเวลาเดียวกัน และมีคนงานมากกว่า 51,500 คน ตกงาน 

*** “วิกฤติเศรษฐกิจไทย” ท้าทาย “รัฐบาลเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน ว่าจะมีหนทางใดรับมือกับภาวะที่เกิดขึ้น และจะสามารถทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ดีขึ้นได้หรือไม่ ขอเอาใจช่วยรัฐบาลครับ...