สำนักงบฯเผยภาระการคลังอุ้มสังคมสูงวัยเฉียดครึ่งล้านล้านในอีก 20 ปี ฝากความหวังจีดีพีไทยต้องโตต่อเนื่อง 5% แจงงบปี 2561 รัฐจัดสรรเพิ่ม 12% ยอด 2.78 แสนล้านบาท รองรับเบี้ยหวัดบำนาญ เบี้ยยังชีพ และบัตรสวัสดิการ
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงตัวเลขงบประมาณที่จัดสรรเพื่อดูแลสังคมผู้สูงอายุ ว่าในปี 2568 ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ (ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เกิน 20% ของประชากร) รัฐต้องใช้งบประมาณสูงถึง 3.62 แสนล้านบาท เพิ่มจากปัจจุบันกว่า 47% และภาระจะเพิ่มเป็นเท่าตัวคือ 4.78 แสนล้านบาท ในปี 2578 ซึ่งเป็นปีที่จำนวนผู้สูงอายุอยู่ระดับสุดยอด คือมีถึง 30.8% ของจำนวนประชากร คิดเป็นจำนวน 20.3 ล้านคน จากปีงบประมาณ 2560 ที่รัฐจัดสรรงบประมาณที่ 2.46 แสนล้านบาท ในจำนวนผู้สูงอายุ 11.7 ล้านคน คิดเป็น 17.12% ของจำนวนประชากร
“ภาระระดับนี้หากเศรษฐกิจแต่ละปีโตระดับ 5% รายได้ในการจัดเก็บก็น่าจะรองรับได้ เทียบกับงบเพื่อใช้กับสังคมผู้สูงอายุแต่ละปีจะไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่าย โดยปี 2561 สัดส่วนอยู่ที่ 9.58% ซึ่งต้องรักษาสัดส่วนนี้ไว้ นอกจากนี้ยังมีรายได้จากภาษีบาป (จัดเก็บภาษีสุรา เบียร์ ยาสูบ) ที่จะจัดสรรให้กับกองทุนผู้สูงอายุอีกปีละ 4,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 เป็นต้นไป เพื่อสมทบเป็นเบี้ยผู้สูงอายุเพิ่มให้อีกรายละ 200 บาท จากที่ได้รับตามขั้นบันไดรายละ 600-1,000 บาท/เดือน”
ส่วนงบรายจ่ายปีงบ ประมาณ 2561 ที่จะจัดสรรรองรับสังคมผู้สูงอายุอยู่ที่ 2.78 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 1. เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ วงเงิน 1.91 แสน ล้านบาท เป็นสัดส่วน 68.71% ของรายจ่ายส่วนนี้ 2. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 6.64 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 23.88% และ 3. รายจ่ายด้านอื่นๆ อีก 7.41% (จากเดิมที่มีสัดส่วน 1%) ได้แก่ค่าบริการสาธารณสุข กิจการเพื่อผู้สูงอายุ รวม 2,776 ล้านบาท ตลอดจนรายจ่าย (ใหม่) ที่จะเพิ่มเข้ามาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 นี้ คือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสำหรับผู้สูงอายุ 3.25 ล้านคน ที่จะได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รายละ 200-300 บาท/คน/เดือน เป็นงบประมาณ 9,758 ล้านบาท และผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 3.25 ล้านคน ยังได้รับเงินสมทบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่ม อีกรายละประมาณ 200 บาท จากกองทุนผู้สูงอายุ ส่วนหลังนี้รายได้จะมาจากภาษีบาป (Sin Tax) เป็นวงเงินประมาณ 7,807 ล้านบาท
“งบประมาณที่ใช้ในเรื่อง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเบี้ยสมทบยังชีพที่เพิ่มให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย แนวโน้มจะโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะบัตรสวัสดิการฯ คงไม่ได้หยุดแค่คนละ 200-300 บาทต่อคนต่อเดือน ขึ้นกับดัชนีค่าครอง ชีพ อย่างน้อยต้องเพิ่มให้พ้นเส้นความยากจน และตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มแต่ละปี รวมถึงกำลังความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2561 รัฐ จัดสรรงบเพื่อสังคมผู้สูงอายุเพิ่มจากปี2560 สูงถึง 12.78% (จากอดีตที่เป็นเลขหลักเดียว)
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560