แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สายตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เริ่มดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรนั้น
สำหรับการปิดเบี่ยงจราจรในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง 5 สถานีแรก ได้แก่ สถานีบางขุนนนท์ สถานีศิริราช สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานียมราช และสถานีประตูน้ำ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป
แหล่งข่าวจากรฟม.กล่าวต่อว่า ในช่วงแรกที่เริ่มปิดเบี่ยงจราจร คือ สถานีบางขุนนนท์และสถานีสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่พบว่า ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรนั้นเอกชนผู้รับสัมปทานเพิ่งเริ่มนำแบริเออร์กั้นเขตพื้นที่เพื่อเตรียมดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคก่อน โดยไม่ได้กระทบต่อการจราจร ซึ่งผู้ที่สัญจรสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ตามปกติ เพราะยังไม่ได้มีการปิดเบี่ยงจราจรครบ 100%
ด้านสถานีบางขุนนนท์ ได้ดำเนินการปิดเบี่ยงจราจรเพื่อก่อสร้างบนถนนชั่วคราว เพื่อให้ผู้ที่สัญจรสามารถเบี่ยงจราจรได้ ถึงแม้ว่าผิวจราจรแคบเล็กน้อย แต่ยังสามารถสัญจรพื้นที่ดังกล่าวได้ตามปกติ
ส่วนการปิดเบี่ยงจราจรบนสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนั้น เชื่อว่าผู้ที่สัญจรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากช่องจราจรมี 6 ช่องจราจร โดยช่วงแรกได้ปิดเบี่ยงจราจรเพียงช่องทางเดียว ทั้งนี้ตามแผนที่วางไว้ได้ดำเนินการลดผลกระทบการจราจรด้วย
แหล่งข่าวจากรฟม. กล่าวต่อว่า หากดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะเริ่มใช้เครื่องจักรขุดเจาะเพื่อเริ่มการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในต้นปี 2568 ใช้ระยะเวลาประมาณ 4-5 ปี โดยนำร่องใน 5 สถานีแรกข้างต้น ทั้งนี้ตามแผนจะเปิดให้บริการภายในปี2573
ขณะที่การเวนคืนที่ดินยังเป็นไปตามแผน โดยจะทยอยส่งมอบพื้นที่ได้บางช่วงตามสัญญา โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะได้มีการส่งมอบพื้นที่บ้างแล้วตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ หลังจากนั้นจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างต่อไป ใช้ระยะเวลาเวนคืนที่ดิน 2 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2569-2570
แหล่งข่าวจากรฟม. กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีพื้นที่เวนคืนที่ดินที่มีประชาชนได้รับผลกระทบนั้น เบื้องต้นรฟม.ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเข้าไปสำรวจอสังหาริมทรัพย์และสอบสวนสิทธิ์ก่อนประเมินค่าทดแทนและรับเงินเพื่อเวนคืนที่ดิน
ขณะเดียวกันรฟม.ได้มีการของบประมาณปี 2568 เพื่อจ่ายค่าทดแทนเวนคืนที่ดินแล้ว คาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายค่าทดแทนได้ภายในปีนี้
“ส่วนข้อกังวลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินนั้น ยืนยันว่ารฟม.ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าหากประชาชนไม่พอใจกับค่าทดแทนเวนคืนที่ดินที่ได้รับ มีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ได้ ซึ่งแต่ละรายมีวิธีดำเนินการที่ไม่เหมือนกัน” แหล่งข่าวจากรฟม.
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก มีพื้นที่ที่เวนคืนที่ดิน ดังนี้ ที่ดิน 380 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 400 หลังคาเรือน โดยมีค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์โครงการส่วนตะวันตกวงเงิน 14,661 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 35.9 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 27 กิโลเมตร และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 8.9 กิโลเมตร จำนวน 28 สถานี แบ่งเป็นสถานีใต้ดิน 21 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี