เทรนด์ก่อสร้างยังสดใส พรีบิลท์-ตั้งเป้าแบ็กล็อกหมื่นล้าน

14 ก.ค. 2561 | 12:41 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ค. 2561 | 19:41 น.
แม้ “พรีบิลท์” จะร่วมลงทุนกับกลุ่มชินวะกรุ๊ป และยักษ์อสังหาริมทรัพย์จากญี่ปุ่นพัฒนาโครงการ REN Sukhumvit 39 คอนโดฯหรูกลางเมือง ด้วยนวัตกรรมทันสมัยปลุกกระแสการปรับเปลี่ยนของวงการก่อสร้างไทย แล้ว ยังมองเทรนด์การก่อสร้างในครึ่งปีหลังและปี 2562 ค่อนข้างสดใส

 

p31a ทั้งนี้ นายวิโรจน์ เจริญตา กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวโน้มการเติบโตตลาดรับเหมาในพื้นที่กทม.-ปริมณฑล ช่วงครึ่งหลังปี 2561 ว่ายังเน้นรักษาระดับปริมาณงานในมือ (แบ็กล็อก) ไว้ในระดับ 8,000-1 หมื่นล้านบาทอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเน้นรับงานภาคเอกชน 80% อาทิ งานก่อสร้างโรงแรม ออฟฟิศบิลดิ้ง และสัดส่วนงานราชการ 20% ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารอุทยานป๋วย 100 ปี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มองงานเอกชนในปีหน้าอย่างไร

ยังเล็งเห็นว่าแนวโน้มการก่อสร้างในครึ่งหลังปี 2561 นี้และปีหน้าเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ เชื่อว่าจะมีปริมาณมากกว่าปีนี้อีกด้วย เนื่องจากจะมีภาคเอกชนเร่งผลักดันโครงการต่างๆ มาก ขึ้น ประกอบกับเอกชนจะเน้นคุณภาพ ส่งมอบได้เร็ว อาทิ งานโรงแรม อาคารสำนักงาน เพราะเห็นว่าจะสามารถสร้างรายได้ระยะยาวมากขึ้น เติบโตจากช่วงที่ผ่านมาซึ่งจะเป็นกลุ่มคอนโดฯที่เป็นรายได้ระยะสั้น ปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างรายได้ระยะยาว สามารถบริหารที่ดินให้สร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“โซนสุขุมวิทยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ราคาแพงขึ้น ยังมั่นใจว่าไม่ติดกับดักราคาที่ดิน เพราะเมื่อ เปรียบเทียบกับย่านซีบีดีของต่างประเทศราคาที่ดินของไทยยังจูงใจกว่า โดยจะพบว่าราคายังถูกกว่าในภูมิภาค จึง
พบว่ามีลูกค้าต่างประเทศเข้ามาซื้อ เป็นเจ้าของ และไทยซื้อให้ต่างชาติเช่าจำนวนมากในขณะนี้”

ปัจจัยผลกระทบธุรกิจก่อสร้าง

ประการสำคัญยังเห็นว่าประเทศ ไทยมีปัจจัยบวกด้านแนวโน้มการเมืองชัดเจนขึ้น การลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐชัดเจนขึ้น จึงมีเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบมากขึ้น อีกทั้งเชื่อว่างานก่อสร้างในพื้นที่การพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีมากขึ้น อสังหาริมทรัพย์จะกลับมาฟื้นอีกครั้ง ประกอบกับโครงการรถไฟฟ้ามีการก่อสร้างเพิ่มอีก 2-3 เส้นทาง งานก่อสร้างเริ่มเห็นภาพชัดเจนกว่าปีที่ผ่านมา

MP31-3379-A

อย่างไรก็ตาม ยังกังวลเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองที่ยังมองไม่เห็นว่าต่อจากนี้ไปจะเกิดเหตุการณ์อะไรตามมาอีกโดยเฉพาะช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในต้นปีหน้า เช่นเดียวกับกรณีสงครามการค้า เศรษฐกิจโลก อาจหยุดชะงัก แนวโน้มดอกเบี้ยขึ้น ราคาวัสดุเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันราคาเหล็กขยับเพิ่มแต่ยังพอรับได้

นอกจากนั้นยังเป็นห่วงเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าว ที่อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลน ดังนั้นบริษัทรับเหมารายใหญ่ รายกลางจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีก่อสร้าง เป็นระบบใหม่ สำเร็จรูปมากขึ้น ให้ใช้แรงงาน คนน้อยลง แต่จะต้องลงทุนเพิ่ม

“ปัจจุบันจะพบว่า บริษัทรับ เหมาชั้นนำของไทยได้พัฒนานวัตกรรมการร่วมลงทุนด้านเทคโนโลยีการก่อ สร้างยังเชื่อว่าจะเข้าไปมีส่วนปฏิรูปวงการรับเหมาไทยได้ไม่มากก็น้อย เนื่องจากปัจจัยค่าแรงสูงขึ้นจะทำให้เกิดการพัฒนาจากโรงงานสำเร็จรูป  (พรีแฟบ) มากขึ้น ผลิตในไซต์งานน้อยลง เพราะหวั่นเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง ซึ่งบริษัทรับเหมาต้องเร่งหาพันธมิตรรับเหมารายใหม่มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและรับงานขนาดใหญ่ได้มากกว่า”

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3379 ระหว่างวันที่ 1 - 4 ก.ค. 2561

e-book-1-503x62