รายงาน : โดย กมลพร ชิระสุวรรณ
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เปิดรายละเอียด “จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่ครม.อนุมัติ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการขยายผลสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ พลิกฟื้นสู่พื้นที่แห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่มา
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 อนุมัติหลักการการขยายผลเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นั้น ต่อเนื่องจาก มติครม.เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ที่ได้อนุมัติหลักการไว้ว่า เมื่อพัฒนาเมืองต้นแบบ 3 แห่งแรก คือ พื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สำเร็จแล้ว ให้ขยายผลต่อให้ครอบคลุมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ ได้มีการเสนอพื้นที่อำเภอจะนะ ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2559 ว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ตั้งอยู่ในจุดที่สามารถเชื่อมต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ทุกระบบขนส่ง เป็นต้น
ตลอดกว่า 2 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อมูลเพื่อการวางแผนการทำงานอย่างรอบด้านและต่อเนื่อง มีการจัดเวทีใหญ่นำเสนอกรอบภาพรวมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง 14 เขตเศรษฐกิจ ที่จะต้องเชื่อมโยงทุกเรื่องเข้าไว้ด้วยกันไม่แยกส่วนการพัฒนาเช่นที่ผ่านมา
เนื่องจากในท้ายสุด ศอ.บต. ต้องตอบให้ได้ว่า การทำงานทุกเรื่องที่ ศอ.บต. สนับสนุนและผลักดัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนานั้นอย่างไร และต้องไม่สร้างเงื่อนไขของความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา
ความจำเป็น
ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนใต้ อยู่ที่ 1.6% ซึ่งตํ่ากว่าค่าเฉลี่ยของภาคใต้และของประเทศไทย รวมทั้งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสินค้าเกษตรมีแนวโน้มราคาตกตํ่าลงในห้วงหลายปีที่ผ่านมา
ดังนั้น จำเป็นต้องพัฒนากลไกเศรษฐกิจใหม่ที่สำคัญ (New Engine of Growth) ให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ซึ่งต้องมองไปในอนาคตตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า ว่าลูกหลานคนในพื้นที่จะอยู่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงในวันนี้ เรามีตัวเลขนักศึกษาที่ว่างงานปีละหลายหมื่นคน และหลายคนต้องเดินทางออกไปทำงานยังต่างพื้นที่ รวมทั้งประเทศมาเลเซียหลายแสนคน
ในส่วนนี้ ศอ.บต. เดินหน้าโดยใช้มิติเศรษฐกิจเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาสังคม ทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการภาครัฐ การมีส่วนร่วมของประชาชน การสื่อสารสร้างความเข้าใจและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง สิ่งเหล่านี้จะต้องเดินหน้าพัฒนาไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นช่องว่างในการพัฒนา ที่นำไปสู่การสร้างความเหลื่อมลํ้าทางสังคมและรายได้ของประชาชน ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน มิให้โดนเอารัดเอาเปรียบจากเอกชน ราชการ แต่จะต้องทำงานสานประโยชน์ให้ทุกฝ่ายได้อย่างเป็นธรรม เท่าเทียม
แนวทางการพัฒนา
คำว่า “อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” มีนัยการพัฒนาที่สำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคตให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี อีกนัยหนึ่งคือการวางรากฐานการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในระดับพื้นที่อนุภูมิภาคไม่ต้องเคลื่อนย้ายการทำงานไปยังภูมิภาคอื่น นัยนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง “เพราะให้ความสำคัญกับการกำหนดอนาคตของลูกหลานประชาชนในพื้นที่ที่ต้องอยู่อย่างมีคุณค่าและศักดิ์ศรี มีการศึกษาที่ดี และเมื่อจบการศึกษาแล้วต้องมีแหล่งงานรองรับในบ้านเกิด เพื่อให้สามารถดูแลพ่อแม่และครอบครัวได้อย่างใกล้ชิด ไม่ต้องระเหเร่ร่อนไปทำงานยังต่างพื้นที่ สามารถยืนหยัดช่วยเหลือตนเองได้อย่างมีคุณค่า” เป็นการใช้มิติทางเศรษฐกิจเพื่อเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวการพัฒนามิติอื่นๆ ให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน
แนวทางการพัฒนาเมืองต้นแบบ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มีกรอบแผนและการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1.กรอบแผนงานภาคประชาชน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตครั้งนี้ แผนงานของภาคประชาชนจะต้องมีการริเริ่มและเสนอแนะ เพื่อให้ภาคีรัฐและเอกชนนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยสูงสุด และวัดผลได้ในทางปฏิบัติแต่ละปี ในฐานะที่ภาคประชาชนเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยข้อกังวลหรือความห่วงใยของประชาชน จะต้องได้รับตอบสนองทุกประเด็น
2.กรอบแผนเอกชน ประกอบด้วย
2.1 นิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อผลิตสินค้าจากทรัพยากรในท้องถิ่น เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งนำเข้าและส่งออกผ่านทางท่าเรือเพื่อการขนส่งและการท่องเที่ยว
ส่วนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กิจการคมนาคมขนส่งเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร การท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้า และอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้า (EV Car) เป็นต้น
2.2 พลังงานไฟฟ้าทางเลือก (Energy Complex) สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอย่างน้อย 2,813 เมกะวัตต์ รองรับการเจริญเติบโตและความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ในอนาคตอย่างเพียงพอ โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานธรรมชาติ หรือ โรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
2.3 ท่าเรือเพื่อการพาณิชย์และการท่องเที่ยว พร้อมระบบคมนาคมขนส่งแบบครบวงจร การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือเขตพื้นที่เศรษฐกิจ และเขตการค้าชายแดน เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทาง และการขนส่งสินค้า ทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน
2.4 ด้านการบริหารจัดการ ด้านนํ้า และสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันปัญหานํ้าเสีย และผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล และการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
2.5 กองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้
3.แผนดำเนินการของรัฐ จะเป็นแผนงานอย่างบูรณาการทุกด้าน เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบจะนะ เบื้องต้นจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ ตามที่มีการใช้ในพื้นที่เมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” แล้ว เช่น การรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ การอุดหนุนเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งให้เอกชน สิทธิประโยชน์ภาษีและการเงิน การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธินิติกรรม เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอเพิ่มเติมจะได้มีการหารือร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต่อไป โดยมีการเตรียมการประกาศให้อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา รวมทั้ง 3 เมืองต้นแบบ เมื่อปี 2559 เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะตามนัยมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2553 ซึ่งจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่พัฒนาเฉพาะกิจเมืองต้นแบบ เป็นกลไกการบริหารที่สำคัญต่อไป
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,477 วันที่ 9 - 12 มิถุนายน 2562