เปิดผังเมืองอีอีซี จัดพื้นที่4.1แสนไร่รับลงทุน-เกษตร4.8ล้านไร่

02 ส.ค. 2562 | 00:50 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2562 | 07:57 น.

เปิดร่างผังเมืองรวมอีอีซี 8.29 ล้านไร่ ครอบ คลุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4 กลุ่ม 11 ประเภท เพิ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 4.12 แสนไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในระยอง ชลบุรีเป็นชุมชนเมือง ฉะเชิงเทราพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม

ภายใต้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กำหนดให้มีการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) เห็นชอบซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 นี้

 

คลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่

การจัดทำร่างแผนผังดังกล่าว ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ยืนยันว่าได้ผ่านการทำรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนรวมกว่า 40 ครั้ง ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการดูแลพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์เป็นพิเศษ โดยรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ครอบคลุมพื้นที่ราว 8.29 ล้านไร่ แบ่งเป็น 1.พื้นที่เมืองและชุมชนราว 1.11 ล้านไร่หรือราว 13.4 % ประกอบด้วยที่ดินประเภทศูนย์กลางด้านพาณิชยกรรม(พ.) ที่ดินประเภทชุมชนเมือง(ม.) ที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาเมือง(รม.) และที่ดินประเภทเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ(ขก.)

2.พัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ราว 4.12 แสนไร่ หรือราว 4.97% แบ่งเป็นที่ดินประเภทเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 21 เขต(ขอ.) และที่ดินประเภทรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต (อ.) 3.พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ราว 4.86 ล้านไร่หรือราว 58.63% แบ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท(ชบ.) ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สก.) ที่ดินประเภทพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (ปก.) 4.การอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ราว 1.66 ล้านไร่ หรือราว 20.12 % แบ่งเป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้(อป.) และที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม(ล.)

 

กันพื้นที่อนุรักษ์/เกษตร

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ใกล้จะแล้วเสร็จเหลือเพียงการปรับปรุงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะเสนอที่ประชุมกพอ.ได้ราวต้นเดือนสิงหาคมนี้ ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป โดยยืนยันว่าร่างแผนผังฯดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เพื่อการอุนรักษ์ ซึ่งได้กันพื้นที่ป่าไม้ ต้นนํ้า ลำธาร ห้ามตั้งโรงงานในระยะไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร รวมถึงกันพื้นที่โล่ง เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมไว้ เช่น บริเวณแหล่งนํ้า ชายทะเล พื้นที่ต้นนํ้า และกำหนดระยะห่างจากริมฝั่งของแม่นํ้า ลำคลอง ไม่น้อยกว่า 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงาน ที่สำคัญพื้นที่ส่วนใหญ่ 78% ของพื้นที่ทั้งหมดถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่อนุรักษ์

 

ผุดย่านพาณิชย์ในชุมชน

ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะมีการกำหนดไว้ในท้ายประกาศ ที่จะมีการจำแนกเป็นบริเวณและสีต่างๆ โดยพื้นที่ประเภท พ.กำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง บริเวณ พ.-1 ถึง พ.-7 ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนหนาแน่น เช่น อ.เมืองฉะเชิงเทรา อ.เมืองชลบุรี อ.บางละมุง อ.ศรีราชา พัทยา และรอบสนามบินอู่ตะเภา และ อ.เมืองระยอง เป็นต้น ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

ส่วนที่ดินประเภทม.กำหนดเป็นสีส้ม จะอยู่บริเวณ ม.-1 ถึง ม.-53 ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณโดยรอบของชุมชนหนาแน่นในปัจจุบัน ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และห้ามสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ยกเว้นตั้งอยู่ริมถนนสาธารณะที่มีขนาดเขตทางไม่น้อยกว่า 16 เมตร และหากประกอบกิจการโรงงานหรือคลังสินค้า ต้องมีระยะห่างจากริมฝั่งแม่นํ้าไม่น้อยกว่า 200 เมตร

รวมถึงที่ดินประเภท รม.กำหนดเป็นสีส้มอ่อนมีจุดขาว บริเวณรม.-1 ถึง รม.-56 ที่ขยายตัวจากพื้นที่ชุมชนเมืองออกไป

 

เพิ่มพื้นที่รองรับลงทุน

ส่วนที่ดินประเภทขก.นั้น กำหนดเป็นสีม่วง ปัจจุบันได้ถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ 21 แห่ง บริเวณ ขก.-1 ถึง ขก.5 เนื้อที่ราว 8.6 หมื่นไร่ อยู่ในจ.ระยอง 8 แห่ง ชลบุรี 12 แห่ง และฉะเชิงเทรา 1 แห่ง ขณะที่ที่ดินประเภท อ.กำหนดเป็นสีม่วงอ่อนมีจุดขาว บริเวณ อ.-1 ถึง อ.67 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดระยอง เช่น ในต.มาบยางพร ต.ตาสิทธิ อ.ปลวกแดง ต.พนานิคม ต.มะขามคู่ อ.นิคมพัฒนา อ.มาบข่า ต.เชิงเนิน ต.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง อ.เมืองระยอง ต.แถลง ต.บ้านโป่ง เป็นต้น ส่วนจังหวัดชลบุรี จะอยู่ในพื้นที่เช่น ต.เขาคันทรง อ.ศรีราชา อ.พานทอง ส่วนจ.ฉะเชิงเทรา จะอยู่ในพื้นที่อ.แปลงยาว อ.บ้านโพธิ์ เป็นต้น

เปิดผังเมืองอีอีซี  จัดพื้นที่4.1แสนไร่รับลงทุน-เกษตร4.8ล้านไร่

 

ฉะเชิงเทราพื้นที่ผลิตอาหาร

สำหรับพื้นที่ประเภทชบ.กำหนดให้เป็นสีเหลืองอ่อน บริเวณ ชบ.-1 ถึง ชบ.-15 เพื่อเป็นชุมชนและศูนย์กลางให้บริการทางสังคมและการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม กระจายอยู่ทั้ง 3 จังหวัด ส่วนที่ดินประเภท สก.กำหนดเป็นสีเขียวอ่อน ตั้งแต่ สก.-1 ถึง สก.-8 เพื่อรักษาพื้นที่เกษตรกรรม ที่เป็นแหล่งอาหารของพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตาม ในร่างแผนผังฯดังกล่าว มีข้อยกเว้นว่า เมื่อประกาศมีผลใช้บังคับแล้ว หากกพอ. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนงาน โครงการพัฒนาในอีอีซี ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามร่างแผนผังนี้ ให้สกพอ.เสนอกพอ. พิจารณากำหนดประเภทการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนผังฯหรือเงื่อนไขอื่น เพื่อให้แผนงานหรือโครงการสามารถดำเนินการได้ 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3492 วันที่ 1-3 สิงหาคม 2562

เปิดผังเมืองอีอีซี  จัดพื้นที่4.1แสนไร่รับลงทุน-เกษตร4.8ล้านไร่