คำต่อคำจดหมาย“มะกัน”เปิดหน้าค้านไทยแบน3สารพิษ

24 ต.ค. 2562 | 15:56 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2562 | 04:25 น.

 

สหรัฐฯ ร่อนหนังสือ “นายกฯ-สุริยะ” ค้านไทยแบน 3 สารพิษ อ้างเกษตรกรต้นทุนเพิ่มนับแสนล้านบาท  แถมยังไม่สามารถการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น กระทบอุตสาหกรรมขนมอบ บะหมี่สำเร็จรูป

นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ใจความว่า  เขาเองมีความกังวลใจว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายของไทยอาจจะพิจารณาห้ามการใช้สารไกลโฟเซตโดยมิได้คำนึงถึงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างรอบถ้วน จึงอยากจะขอให้ไทยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจมาตรการต่างๆที่จะนำมาใช้เป็นข้อบังคับ เฉกเช่นที่ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้งหลายพึงกระทำ 

เขาเห็นว่าถ้าหากไทยออกกฎห้ามการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการนำเข้าผลผลิตการเกษตร เช่น ถั่วเหลืองและข้าวสาลี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าไทยจะตระหนักและคำนึงถึงสิ่งที่เป็นความกังวลใจเหล่านี้ และคงไว้ซึ่งข้อจำกัดเดิมว่าด้วยปริมาณสารตกค้างขั้นสูงสุดที่อนุญาตสำหรับสารไกลโฟเซต

สารไกลโฟเซตนั้นเป็นหนึ่งในสารเคมีการเกษตรสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายและมีการศึกษาวิจัยมาแล้วอย่างมากทั่วโลก ในเดือนธันวาคม 2560 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (อีพีเอ) ได้เผยแพร่ร่างผลการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ซึ่งสรุปว่าสารไกลโฟเซตไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ เมื่อมีการนำมาใช้อย่างมีการควบคุม  ผลศึกษาของอีพีเอนั้นสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งในญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย รวมทั้งหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (FAO และ WHO)

แมคคินนีย์ เรียกร้องให้ไทยชะลอการตัดสินใจห้ามการใช้สารไกลโฟเซตออกไปจนกว่าทางกระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะสามารถจัดสรรโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของสหรัฐฯได้มาแบ่งปันประสบการณ์ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์ข้อกังวลใจของไทยมากที่สุด 

“กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (ยูเอสดีเอ) ใคร่ขอเรียนเชิญนายกรัฐมนตรีและทีมงานเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานอีพีเอ การตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต และยุทธศาสตร์การสื่อสาร-ประสานงานกันเกี่ยวกับความเสี่ยง  ทางสหรัฐฯยินดีรับฟังข้อคิดเห็นของฝ่ายไทยเกี่ยวกับประเด็นที่จะนำเสนอขึ้นหารือกันระหว่างการเยือนดังกล่าว  หากฝ่ายไทยมีข้อสงสัยใดๆ หรือต้องการหารือเกี่ยวกับการเดินทางเยือนสหรัฐฯ  ก็สามารถติดต่อนายรัส ไนซ์ลีย์ ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย”

ขอแสดงความขอบคุณมาล่วงหน้า ณ โอกาสนี้ หวังว่าไทยจะพิจารณาคำขอของเขาและเลื่อนการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้สารไกลโฟเซตออกไป เขาหวังว่านายกรัฐมนตรีจะตอบรับคำเชิญเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี

คำต่อคำจดหมาย“มะกัน”เปิดหน้าค้านไทยแบน3สารพิษ

นอกจากนี้นายรัส ไนซ์ลี ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยังทำหนังสืออีกฉบับถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ระบุว่า ทางกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ โดยฝ่ายกิจการการเกษตรต่างประเทศและการค้า ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อประเทศไทยจากกรณีการห้ามใช้สารเคมีการเกษตร 3 ชนิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณานั้น พบว่าการห้ามใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวและการกำหนดระดับของการตกค้างขั้นต่ำสุดที่ศูนย์จะส่งผลทำให้เกิดต้นทุนหลักๆ 3 ประการตามมา คือ

เกษตรกรไทยจะมีต้นทุนเพิ่ม 75,000-125,000 ล้านบาท (คำนวณตามราคาตลาด) จากการใช้สิ่งอื่นทดแทนสารเคมีดังกล่าว

ถ้าหากไม่สามารถหาสารเคมีอื่นที่เหมาะสมมาใช้ทดแทน (กลูโฟสิเนท-แอมโมเนียมมีความเป็นพิษมากกว่าไกลโฟเซต แต่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับพาราควอต) เกษตรกรก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอยู่ดีจากการที่ต้องควบคุมวัชพืช ขณะที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง คาดว่าต้นทุนส่วนนี้จะสูงได้ถึง 128,000 ล้านบาท

 

สุดท้ายคือสิ่งที่เป็นความกังวลใจมากที่สุดสำหรับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ค้าสินค้าเกษตรกับไทย  นั่นคือการค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล องุ่น และอื่นๆที่จะต้องหยุดลงในทันที (จากการกำหนดให้ปริมาณตกค้างขั้นต่ำของสารเคมีดังกล่าวเหลือเพียง 0) ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดผลกระทบต่อการค้า (ในแง่ของการนำเข้าจากประเทศไทย) คิดเป็นมูลค่าสูงได้ถึง 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 51,850 ล้านบาท

ต้นทุนเหล่านี้ยังไม่ได้คำนวณรวมไปถึงผลกระทบที่จะตามมาจากความเสียหายของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารของไทย เช่นผู้ผลิตขนมอบและบะหมี่สำเร็จรูปซึ่งมีมูลค่าตลาด 40,000 ล้านบาท ที่ต้องพึ่งพาข้าวสำลีนำเข้า 100%  

จึงหวังว่าไทยจะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ประกอบการพิจารณาด้วย