บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐิจ ฉบับ 2517 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-30 ต.ค.2562
สหรัฐต้องเคารพอธิปไตยไทย
แบน3สารพิษเกษตร
การยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ นายเท็ด เอ. แมคคินนีย์ ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เรียกร้องให้ไทยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือมาใช้ในการห้ามใช้สารไกลโฟเซต โดยให้เหตุผลว่าสารไกลโฟเซตนั้นเป็นหนึ่งในสารเคมีการเกษตรสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืชที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายและมีการศึกษาวิจัยมาแล้วอย่างมากทั่วโลก ไม่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของมนุษย์ เมื่อมีการนำมาใช้อย่างมีการควบคุม
หนังสือกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ไทยชะลอการตัดสินใจห้ามการใช้สารไกลโฟเซตออกไปจนกว่าทางกระทรวงเกษตรสหรัฐฯจะสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของสหรัฐฯได้มาแบ่งปันประสบการณ์ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์ข้อกังวลใจของไทยมากที่สุด
นอกจากนี้หนังสือที่ส่งถึงพล.อ.ประยุทธ์แล้ว นายรัส ไนซ์ลี ที่ปรึกษาทูตฝ่ายกิจการเกษตร สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ยังทำหนังสือถึงหลายหน่วยงานของไทยแกมขู่ว่าการแบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด จะทำให้เกษตรกรไทยจะมีต้นทุนเพิ่มนับแสนล้านบาทจากการใช้สิ่งอื่นทดแทน 3 สารเคมีดังกล่าว ที่สำคัญคือจะทำให้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ในสินค้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิล องุ่น และอื่นๆ ต้องหยุดลงในทันที เนื่องจากการกำหนดให้ปริมาณตกค้างขั้นตํ่าของสารเคมีดังกล่าวเหลือเพียง 0 ส่งผลต่อเนื่องต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารของไทย เช่น ผู้ผลิตขนมอบและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้องพึ่งพาข้าวสาลีนำเข้า 100%
อันที่จริงการพิจารณายกเลิกการใช้ 3 สารพิษทางการเกษตร เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาการจำนวน 29 คน ที่ดำเนินการภายใต้บทบัญญัติทางกฎหมายของไทย ซึ่งศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ มาแล้วระยะหนึ่ง ขณะที่ประเทศไทยก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีการยกเลิกการใช้สารพิษทางการเกษตร เพราะจากข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ทั่วโลกประมาณ 50-70 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้สารพาราควอตแล้ว ส่วนสารไกลโฟเซตมีการยกเลิกแล้ว 20 ประเทศและจะเพิ่มเป็น 50 ประเทศในปีหน้า เพราะมีความเห็นตรงกันว่าสารเหล่านี้มีอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งตามกฎระเบียบขององค์การการค้าโลกยังบัญญัติไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการพิสูจน์ความปลอดภัยในการใช้สารเคมีเป็นภาระของผู้ผลิต ที่สำคัญการที่สหรัฐฯ อ้างว่าจะกระทบกับการนำเข้าสินค้าเกษตรปนเปื้อนสารดังกล่าว ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการนำเข้าสินค้าเกษตรจะมีมาตรฐานสุขอนามัยเป็นตัวกำกับดูแล ดังนั้นหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ยอมรับการแทรกแซงอธิปไตยของประเทศไทยในครั้งนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ