สถานทูตมะกันลั่น ป้อง‘ไกลโฟเซต’เต็มเหนี่ยว

26 ต.ค. 2562 | 07:24 น.

จิลเลียน บอนนาร์โดซ์ โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย แถลงชี้แจงต่อสื่อวานนี้ (25 ต.ค.) เกี่ยวกับกรณีปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐฯยื่นจดหมายต่อนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลของไทย ขอให้ไทยชะลอมติห้ามการใช้สารเคมีเกษตร 3 ชนิดออกไปก่อนเพื่อขอโอกาสให้หน่วยงานสหรัฐฯได้แบ่งปันข้อมูลผลศึกษาการใช้สารเคมีเหล่านี้ว่ามีความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยอย่างไร ทั้งได้เชิญนายกฯและคณะเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี อย่างเป็นทางการเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยทางสถานทูตฯยอมรับว่า ได้รับทราบแล้วว่าเนื้อหาจดหมายดังกล่าวได้กระจายออกไปในสื่อต่างๆของไทย จึงขอชี้แจงสร้างความกระจ่างเพิ่มเติมว่า

สถานทูตมะกันลั่น ป้อง‘ไกลโฟเซต’เต็มเหนี่ยว

สหรัฐอเมริกามีความคาดหวังจากประเทศไทย เหมือนกับที่คาดหวังจากประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ว่าในการออกมาตรการที่จะบังคับใช้เป็นกฎระเบียบนั้น ไทยจะพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานที่เป็นสากลประกอบการตัดสินใจ
 

สถานทูตมะกันลั่น ป้อง‘ไกลโฟเซต’เต็มเหนี่ยว

ถ้าหากมีการประกาศห้ามการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าวในไทย (ซึ่งประกอบด้วยสารไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต) จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อการนำเข้าผลิตผลการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง และข้าวสาลี ดังนั้น มาตรการนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบทางลบต่อเกษตรกรไทยแต่ยังมีผลลบต่อประเทศคู่ค้าของไทยด้วย

 

ในการประชุมร่วมระหว่างองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)  และองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ JMPR ในปี 2559 ได้รับการยืนยันว่า ไกลโฟเซตไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex Alimentarius Commission) ยังให้การรับรองข้อกำหนดปริมาณตกค้างขั้นสูงสุดของไกลโฟเซตที่มีอยู่ในปัจจุบันว่ามีความปลอดภัยเพียงพอ
 

สถานทูตมะกันลั่น ป้อง‘ไกลโฟเซต’เต็มเหนี่ยว

ในเดือนธันวาคม 2560 สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (อีพีเอ) ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ร่างผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ไกลโฟเซตไม่ได้มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์หากใช้ภายใต้การควบคุม ทั้งนี้ ผลการประเมินดังกล่าวสอดคล้องกันกับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นๆในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) ออสเตรเลีย และ JMPR

 

สุดท้าย โฆษกสถานทูตอเมริกัน ชี้แจงว่า การห้ามใช้สารเคมีไกลโฟเซตจะไม่ช่วยเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร และไม่ช่วยยกระดับการทำการเกษตรที่ปลอดภัยและยั่งยืนของไทยด้วย เพราะแม้หากไม่ใช้ไกลโฟเซต เกษตรกรและชุมชน ก็จะต้องพบกับปัญหามากยิ่งขึ้นในการกำจัดและควบคุมวัชพืชอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และต้องใช้พลังงานมากขึ้นแต่ได้ผลผลิตน้อยลง