ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพ ภายใต้บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเปิดตัวโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในด้าน Healthcare Ecosystem หรือระบบการเกื้อหนุนกันทางด้านสาธารณสุข ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่ง Healthcare Ecosystem เป็นแนวคิดที่พริ้นซิเพิล แคปิตอล ได้ลงทุนและพัฒนาระบบร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายและพันธมิตร เพื่อให้เป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเข้ากับบริการทางการแพทย์ และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลตั้งเป้าหมายจะเพิ่มโรงพยาบาลในเครือให้เป็น 20 แห่ง ภายในปี 2566
“แผนธุรกิจของ พริ้นซิเพิล แคปิตอล จากนี้ไปคือการลดพอร์ตการลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ลง และเพิ่มการลงทุนในพอร์ตของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลให้มากขึ้น เนื่องจากพริ้นซิเพิลฯ มองเห็นแนวโน้มโอกาสการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ และกลุ่มลูกค้า Middle Income ที่มีกำลังซื้อในอนาคตที่จะกระจุกในเมืองรองเพิ่มขึ้น หลังจากที่พริ้นซิเพิลฯ เปิดให้บริการโรงพยาบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีรายได้เติบโต 15% ต่อปีและจะพยายามรักษาอัตราการเติบโตนี้ต่อเนื่อง และยังจับกลุ่มเป้าหมาย Budget Hospital ต่อไป”
ทั้งนี้โรงพยาบาลเตรียมใช้งบลงทุน 5,000-6,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนธุรกิจโรงพยาบาล พร้อมกันนี้จะร่วมกับพันธมิตรในด้านต่างๆ อาทิ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ด้านเฮลธ์แคร์ Mobile Application ด้านการแพทย์และการดูแลรักษาสุขภาพ Telemedicine หรือระบบแพทย์ทางไกล Big Data หรือระบบข้อมูลที่มีปริมาณมาก Hospital Information System หรือโซลูชันเพื่อการจัดการข้อมูลโรงพยาบาล Electronic Medical Record (EMR) หรือการจัดการเวชระเบียนแบบอิเล็กทรอนิกส์, ด้านสาธารณสุข ร่วมมือกับพันธมิตรต่อยอดการแพทย์แบบบูรณาการ, ด้านทรัพยากรมนุษย์ ด้านวิชาการ เพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์, ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือ 9 แห่ง ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิษณุโลก พิจิตร อุตรดิตถ์ ลำพูน และศรีสะเกษ (เปิดดำเนินการต้นปี 2564)
อย่างไรก็ดี ล่าสุดโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ในการขยายโมเดลธุรกิจโรงพยาบาลไปสู่ความยั่งยืน โดยดำเนินงานร่วมกันในรูปแบบ Joint Operation ทั้งในด้านเงินทุน ค่าใช้จ่าย ทรัพยากร ทีมงานบุคลากร และรายได้
โดยนพ.สุธร ชุตินิยมการ ผู้อำนวยการด้านบริหาร บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก กล่าวว่า ปัจจุบันบำรุงราษฎร์ได้วางโมเดล “บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก” เพื่อร่วมลงทุนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) ให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลพันธมิตร ซึ่งจะดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในลักษณะ Joint Operation ยกระดับขีดความสามารถในการรักษาตามมาตรฐานของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ให้กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ในราคาที่สอดคล้องกับสภาวะของภูมิภาคนั้น และล่าสุดบำรุงราษฎร์ ได้ร่วมกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ นำร่อง
ทั้งนี้ บำรุงราษฎร์จะเป็นผู้จัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นในการรักษา ตามความเหมาะสมของเงินทุนและข้อตกลงร่วมกับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง โดยอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยโมเดลบำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก เริ่มนำร่องจากสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบประสาทไขสันหลังและกระดูกสันหลังถูกกดทับ หรือการบาดเจ็บกระดูกสันหลังเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดีบำรุงราษฎร์ยังมองหาพาร์ตเนอร์รายอื่นๆ จากโรงพยาบาลพื้นฐานอื่นทั้ง 58 แห่ง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การบริบาลสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรมต่อไป
หน้า 15 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2462