พื้นฐานตลาดอุตสาหกรรมน้ำตาลเริ่มส่งสัญญาณบวก เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ราคาน้ำตาลตลาดโลกขยับอยู่ที่ 13.67 เซ็นต์ต่อปอนด์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 13.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ การที่ราคาน้ำตาลขยับตัวสูงขึ้นถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ผลิตน้ำตาล จากที่ก่อนหน้านั้นราคาน้ำตาลยืนอยู่ระดับ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์
สาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำตาลไต่เพดานสูงขึ้น มาจาก 4 ปัจจัยหลักคือ 1.ปัญหาภัยแล้ง ลามถึงผลผลิตอ้อยทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะผลผลิตอ้อยจากประเทศอินเดีย ปี 2561/2562 ผลิตน้ำตาลได้ 33 ล้านตัน คาดว่าปี 2562/2563 จะลดลงเหลือ 27 ล้านตัน
ขณะที่ผลผลิตอ้อยจากประเทศไทย ปี2562/2563 ภาครัฐออกมาประกาศที่ 111 ล้านตันอ้อย แต่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมองว่าปริมาณอ้อยในปีดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ 100-105 ล้านตันอ้อย หรือไปไม่ถึง 100 ล้านตันอ้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณอ้อยปีที่แล้วอยู่ที่ 130.97 ล้านตันอ้อย ถือว่าผลผลิตหายไปมาก
-ปริมาณอ้อยหายวับ
หากดูเปรียบเที่ยบจากตัวเลขปริมาณอ้อยปีที่แล้ว ถ้าผลผลิตอ้อยหายไป 20% เท่ากับว่าปริมาณอ้อยหายไปจากระบบอ้อยและน้ำตาลราว 26 ล้านตัน สาเหตุหลักมาจากความแห้งแล้งส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงไปมาก บางพื้นที่มีผลผลิตเพียง 3-5 ตันต่อไร่ ผลผลิตที่ออกมาดีจะต้องได้ปริมาณอ้อยที่ 10 ตันต่อไร่ขึ้นไป เมื่อปริมาณอ้อยหายไปผลผลิตน้ำตาลลดลง สะท้อนราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้น
2.กองทุนนักเก็งกำไร ได้เข้ามาทำการซื้อตั๋วน้ำตาลทรายดิบคืนจากตลาดซื้อขายสัญญาล่วงหน้า จากเดิมมีตั๋วขายมากกว่าตั๋วซื้อ 225,800 ล็อต (1 ล็อต มีปริมาณน้ำตาลทรายดิบเท่ากับ 50.80 ตัน) ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำตาลทรายดิบอยู่ที่ 11 เซ็นต์ต่อปอนด์ และเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีตั๋วซื้อน้ำตาลมากกว่าตั๋วขาย อยู่ที่ 13,556 ล็อต ราคาน้ำตาลขยับตัวไปทิศทางบวก (13.50 เซ็นต์ต่อปอนด์ เมื่อ 13 ธ.ค.62) ราคาขยับตัวสูงขึ้น กองทุนซื้อกลับ โดยติดตามผลผลิตอ้อยจากผู้ผลิตรายใหญ่อย่างอินเดียและไทยลดลง ดังนั้นถ้ากองทุนเข้ามาซื้อกลับเรื่อยๆจะยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลดีดตัวสูงขึ้น
3.ค่าเงินเรียลของบราซิลแข็งค่าขึ้น ก็ลดโอกาสในการส่งออกน้ำตาลของบราซิลลง เนื่องจากโรงงานน้ำตาลหันไปผลิตเอทานอลมากขึ้น
4.การที่ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นดี บราซิลจะนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลมากขึ้นและนำอ้อยไปผลิตเป็นน้ำตาลน้อยลง ถ้าออกมาในรูปนี้ก็จะดีต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเพราะบราซิลเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเบอร์1 ของโลก หันไปโฟกัสที่การผลิตเอทานอลแทน ทั้งหมดล้วนเป็นตัวแปรที่มีบทบาทต่อราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในขณะนี้
-อนท. รอจังหวะราคาดี
นายอภิชาติ ลักษณะสิริศักดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย(อนท.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำตาลที่ขายล่วงหน้าโดย อนท.จำนวน 8 แสนตัน มีการขายล่าช้าไปกว่าเดิม เนื่องจากรอดูสถานการณ์ราคาน้ำตาลโลกก่อน ว่าจะไต่ระดับสูงขึ้นอีกแค่ไหน ในจำนวนนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 4 แสนตัน เป็นการขายให้กับผู้ซื้อต่างประเทศ โดย อนท.แบ่งการขายสัญญาล่วงหน้าออกเป็น 3 เดือนส่งมอบที่แตกต่างกัน ที่จะต้องขายในปี 2563
โดยเดือนการส่งมอบแรกจำนวน 133,333 ตัน จะต้องรีบขายสัญญาล่วงหน้า ก่อนที่สัญญาล่วงหน้าจะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เดือนการส่งมอบที่ 2 จำนวน 133,333 ตัน จะต้องขายภายในเดือนเมษายน 2563 และเดือนการส่งมอบที่ 3 จำนวน 133,334 ตัน จะต้องขายภายในเดือนมิถุนายน 2563 เนื่องจากรอดูจังหวะราคาน้ำตาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากเดิม และส่วนที่ 2 อีกจำนวน 4 แสนตันจะเป็นส่วนที่อนท. ขายคืนโรงงานน้ำตาล
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญในวงการน้ำตาลต่างตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตภัยแล้งปี 2562 จะทำให้ผลผลิตอ้อยหายไปมาก ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกก็จะลดลง ล้อตามกันไป ทำให้ราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยทั้งปีโงหัวขึ้น คาดการณ์ว่าจะไต่ระดับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 14-15 เซ็นต์ต่อปอนด์!
- 2ปัจจัยเสี่ยง กดราคาไม่พุ่งเท่าที่ควร
ขณะที่แหล่งข่าวจากกูรูวงการน้ำตาลตั้งข้อสังเกตว่า อย่าเพิ่งคาดหวังมากนัก แม้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะดีดตัวสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่าของแพงขึ้นแต่เรามีของขายน้อยลง เพราะเผชิญปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตตกต่ำลง เหมือนทุกครั้งพอผลผลิตมากราคาร่วง พอผลผลิตน้อยราคาจะพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันถ้าราคาไปในทิศทางบวก อุตสาหกรรมน้ำตาลก็ยังมี 2 ความเสี่ยงอยู่ดี
ความเสี่ยงแรก คือ 1.ปัจจุบันอินเดียมีสต็อกน้ำตาลอยู่ในมือราว 14 ล้านตัน ก็มีความเป็นไปได้ที่อินเดียจะระบายสต๊อกออกมา ถึงแม้ว่าปี 2562/63 ในตลาดโลกมีผลผลิตน้อยกว่าการบริโภคอยู่ประมาณ 5-7 ล้านตันก็ตาม อินเดียอาจจะนำน้ำตาลออกมาปล่อยขาย ก็จะยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่ขยับสูงขึ้นเท่าที่ควร ดังนั้นสต็อกน้ำตาลจากอินเดียจึงเป็นแรงกดดันในตลาดพอสมควรนับจากนี้ไป
2.ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า เวลาซื้อ-ขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นราคาดีขึ้นแต่ถ้าค่าเงินบาทแข็งค่า ไทยจะนำเงินเข้าประเทศจากการส่งออกน้ำตาลได้น้อยลง
เหมือนทิศทางราคาน้ำตาลจะดี แต่ไปไม่สุด เพราะสต็อกน้ำตาลจากอินเดียที่มีจำนวนมาก อาจจะเข้ามาขายเพิ่ม และจะเป็นตัวการที่ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกไม่สามารถไต่ระดับได้สูงกว่าที่ควรจะเป็น เกรงว่าบรรดาผู้ค้าน้ำตาล จะดีใจเก้อ! เพราะ“น้ำตาล”อินเดียสกัดราคาตลาดโลกให้ขยับไม่แรงนั่นเอง!
คอลัมน์ : Let Me Think
โดย : TATA007