ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เริ่มเผยแพร่ตารางข้อมูล “เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกวัตถุประสงค์ (Loans to Household classified by Purpose)” ซึ่งเก็บรวบรวมจากธนาคารพาณิชย์และที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) ที่ปล่อยกู้ให้กับบุคคลธรรมดา ซึ่งเป็นการแจกแจงเพิ่มเติมตารางข้อมูลที่เผยแพร่ ปัจจุบันที่จำแนกเพียงว่า สถาบันการเงินใดเป็นผู้ปล่อยกู้เท่านั้น
ทั้งนี้จากรายงานเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของธปท. ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 พบว่า มียอดคงค้าง 13.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.1% ของจีดีพีและเมื่อปรับฤดูกาลแล้วอยู่ที่ 79.3% ของจีดีพีขยายตัว 5.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย 1 ใน 3 เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นการกู้ไปเพื่อกินเพื่อใช้ เพื่อการประกอบอาชีพ และเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในอัตรา 20% 18% และ13%
ตามลำดับ และหากพิจารณาไส้ในของหนี้ครัวเรือนพบว่า การกู้ยืมเพื่อการใช้จ่ายหมวดบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธปท.เพิ่มขึ้น 2.33 แสนบาท เพิ่มขึ้นถึง 31.53% เมื่อเทียบไตรมาส 2 ปี 2562 และช่วงเดียวกันของปี 2561 รองลงมาเป็นการกู้เพื่อการศึกษา เพิ่มขึ้น 1.57 แสนบาทหรือ 10.13%
ขณะที่คุณภาพหนี้พบว่า หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) หรือสินเชื่อที่ค้างชำระ 1เดือนแต่ไม่ถึง 3เดือน มีจำนวน 4.03 แสนบาท คิดเป็น 2.52% จากช่วงเดียวกันปี 2561 ซึ่งการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนมากถึง 38.16% ของยอดคงค้าง SM และการขยับเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอล โดยเฉพาะปิดงบการเงินสิ้นปี 2562 พบว่า SM ยังเพิ่่มขึ้นเกือบทุกธนาคาร ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารเน้นจัดชั้นคุณภาพหนี้และกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแบบเข้มงวด อย่างธนาคารกรุงเทพ SM เพิ่มขึ้น 45.36% เอ็นพีแอลปรับลดลง ส่วนธนาคารกรุงไทย SM เพิ่มขึ้น 6.56% เอ็นพีแอลปรับลด
กิริฎา เภาพิจิตร
ขณะที่ค่ายไทยพาณิชย์ ทั้ง SM และเอ็นพีแอลยังเพิ่มขึ้น 20.1% และ 21.1% ตามลำดับเช่นเดียวกับฝั่งกสิกรไทยที่ SM เพิ่มขึ้น 53% และเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 12.95% ส่วนธนาคารกรุงศรีอยุธยา SM เพิ่มขึ้น 14.86% และเอ็นพีแอลเพิ่ม 7.51% และธนาคารทหารไทย SM เพิ่มขึ้น 108% และเอ็นพีแอลเพิ่ม 73% ซึ่งเป็นผลจากการรวมงบการเงินกับธนาคารธนชาต ขณะที่เอ็นพีแอลตามงบการเงินเฉพาะลดลง 16.25% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 18,150 ล้านบาทจาก 21,674 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งเอกสารเผยแพร่ธนาคารระบุว่า ธนาคารยังคงแก้ไขปัญหาโดยการ Write Off เพื่อลดความเสี่ยงเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยปี 2562 ได้ Write Off ไปแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หนี้ครัวเรือนที่ 79.1% นั้นถือว่า มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งในแง่การใช้จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ทำให้คนมีที่อยู่เป็นของตัวเอง หากไม่สามารถชำระหนี้ ก็ยังมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันให้สถาบันการเงินยึดออกจำหน่ายได้ ซึ่งธปท.ได้ออกมาตรการควบคุมสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ไปแล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือ ส่วนของการกู้ยืมเพื่อกินหรือเพื่อใช้จ่าย ถ้าไม่สามารถแยกแยะ ประเภทการใช้จ่ายได้ เท่ากับเป็นการบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหากมีปัญหารายได้จะทำให้หนี้เอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต
สำหรับการกู้เพื่อซื้อรถยนต์ เข้าใจว่า เป็นการเปลี่ยนรถยนต์เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา โครงการรถยนต์คันแรกครบอายุ แต่อย่างน้อยในช่วงปีที่แล้วจะเห็นว่า ยอดขายรถยนต์แผ่วลงมา
“ธปท.พยายามที่จะบล็อกช่องทางไม่ให้ก่อหนี้หรือสนับสนุนก่อหนี้บนความสมเหตุสมผล แต่หากจะให้ยั่งยืน ก็เป็นเรื่องให้ความรู้ในการบริหารหนี้ส่วนบุคคล (Financial literacy) ที่สำคัญควรมีวิธีบริหารจัดการทางการเงินควบคู่ด้วย เพราะครัวเรือนของไทยยังมีการออมที่ปรับลดลงและส่วนใหญ่มีเงินออมต่ำ”
ด้านนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลส่วนหนึ่งมาจากความเข้มงวดในการจัดชั้นของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้แม้ธนาคารจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกค้าเอ็นพีแอล แต่พบว่า มีหนี้ไหลย้อนกลับ (Re-entry) เพิ่มขึ้น จากความเปราะบางหรือความอ่อนแอของแต่ละราย
สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL gross) ของกสิกรไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 3.65% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2561 อยู่ที่ 3.34% แต่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 148.60%
หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563