วันนี้ (17 ก.พ.63) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำรายชื่อ 3 ส.ส.ไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่มเติม เพื่อให้ดำเนินการไต่สวน สอบสวน และเอาผิด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรณีการเสียบบัตรแทนกันของ ส.ส.
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำโดยไม่สุจริต ใช้สิทธิ์ออกเสียงลงมติแทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุม เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งเสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคสาม และการออกเสียงลงคะแนนจะทำแทนกันไม่ได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2562 ข้อ 80 วรรคสามนั้น
กรณีดังกล่าว ศาลยังได้ระบุด้วยว่า บุคคลใดจะต้องรับผิด รับโทษอย่างไรหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้ยื่นคำร้องไว้แล้วต่อ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวน สอบสวน ส.ส.ที่อาจกระทำการดังกล่าวไว้จำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ
แต่ปรากฏว่ายังมี ส.ส.อีกหลายคนที่อาจมีพฤติกรรมดังกล่าวอีก 3 ราย คือ น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ นายโกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท และ นายภูมิศิษฏ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าว จึงอาจเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 185 อันถือได้ว่าเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่น และอาจเข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 และเข้าข่ายการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในข้อ 7 และข้อ 8 ในประเด็นที่ต้องถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่รู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตําแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งหาก ป.ป.ช. วินิจฉัยว่ามีความผิด ก็อาจนำไปสู่การสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ส.ส. ตามมาตรา 101(7) ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ส.ส. 3 คน ที่ยื่นให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบในวันนี้ ส.ส. 2 คน จากพรรคภูมิใจไทย และพรรคพลังท้องถิ่นไทย พบว่ามีพฤติกรรมเสียบบัตรแทนกันในการลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ส่วน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณาร่างกฏหมายอื่น
แต่ นายศรีสุวรรณ ก็มั่นใจว่าน่าจะสามารถเอาผิดได้ เพราะในเรื่องความผิดเกี่ยวกับการเสียบบัตรแทนกันนั้น เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ซึ่งทำให้ ป.ป.ช.ยื่นคำร้องต่ออัยการ อัยการฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งสามารถนำมาเทียบเคียงได้ เพราะการเสียบบัตรแทนกันไม่ว่าทำในการลงมติร่างกฎหมายฉบับไหน ถ้ามีพฤติกรรมเช่นนี้ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดด้วยเช่นกัน