นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ คณะผู้บริหารระดับสูง และพนักงานบริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์และทิศทางธุรกิจในปี 2563 บริษัทจะมุ่งให้ความสำคัญกับการผลิตอาหาร Local Product หรืออาหารท้องถิ่นในรูปแบบ Chilled Food (อาหารแช่เย็นท้องถิ่น) จากเดิมที่มีเฉพาะเมนู Nationwide ซึ่งเป็นเมนูทั่วไปขายทั่วประเทศ แต่จากนี้ไปจะมีสัดส่วนอาหารเมนูท้องถิ่นเป็น 25-30% และอาหาร Nationwide สัดส่วน 70-75% ขณะเดียวกันในด้านเป้าหมายรายได้ปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปีก่อนมีรายได้ราว 1.99 หมื่นล้านบาท
“การพัฒนาอาหารท้องถิ่นซีพีแรมจะไม่แข่งกับร้านอาหารพื้นเมือง เพราะถึงอย่างไรร้านอาหารท้องถิ่นก็ยังมีความสำคัญ รวมทั้งหลากหลายและรสชาติคุณภาพอาหารดีแตกต่างกัน แต่ซีพีแรมจะพัฒนาเมนูอาหารท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่นอนดึกหรือในเวลาดึกที่ไม่มีร้านอาหารเปิดให้บริการแล้ว”
ขณะเดียวกันซีพีแรมได้วางงบประมาณการใช้งบ 1% ของยอดขายหรือปีละประมาณ 150 -200 ล้านบาทเพื่อวิจัยและพัฒนาให้ได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตนเองเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับองค์กร CPRAM 4.0 รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มอาหารเด็ก ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นต้น ทั้งนี้ซีพีแรมจะนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติมาร่วมทำงานในโรงงานในจุดที่ทำงานหนักและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
ปัจจุบันซีพีแรมมีทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับตลาดโดยในกลุ่ม Local Product อาหารท้องถิ่น เช่น ภาคใต้ ได้แก่ ข้าวใบเหลียง ผัดไข่ ข้าวไก่ผัดพริกแกง ภาคอีสาน ได้แก่ ลาบหมู กวยจั๊บญวน ขณะที่ภาคเหนือ ได้แก่ ข้าวผัดผักเชียงดา เป็นต้น ขณะเดียวกันเมนูอาหารคาวขายดี 5 อันดับ ได้แก่ 1. ข้าวสวยหอมมะลิ 2. ข้าวกะเพราหมู 3. ข้าวกะเพราไก่ ไข่ดาว 4. ข้าวผัดปู 5. ผัดซีอิ๊วหมู ขณะที่กลุ่มเบเกอรี่ 5 อันดับขายดี คือ 1. พายสับปะรด 2. ดับเบิลปูอัดและแฮมมายองเนส 3. ดับเบิลปูอัดมายองเนสและทูน่ามายองเนส 4. มินิบันไส้กรอก 5. ดับเบิลไส้หมูหย็องมายองเนสและปูอัด
ทัั้งนี้หลังจากประกาศทิศทางองค์กร 5 ปี (ปี 2561-2565) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมาในการขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น มีโรงงานใหม่เกิดขึ้นอีก 5 แห่ง 2 แห่งในที่ตั้งใหม่คือ โรงงานลำพูน และโรงงานสุราษฎร์ธานี และอีก 3 แห่งในที่ตั้งเดิม คือโรงงานชลบุรี โรงงานขอนแก่น และโรงงานบ่อเงิน จังหวัดปทุมธานี ด้วยงบลงทุน 4,000 ล้านบาท ปัจจุบันได้สร้างแล้วเสร็จ ซึ่งมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น และแช่เยือกแข็ง เพิ่มขึ้นอีก 50-70% รองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นและช่วยเสริมสร้างศักยภาพการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจและการสร้างงานสร้างรายได้ในภูมิภาคขณะเดียวกันยังได้เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น
ปัจจุบัน ซีพีแรม ประกอบด้วยโรงงาน 7 แห่ง ได้แก่ ปทุมธานี 2 แห่ง, กรุงเทพฯ, ชลบุรี, ขอนแก่น, ลำพูน และสุราษฎร์ธานี นอกจากสำหรับผลิตสินค้าส่งให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร และร้านค้าชั้นนำในแต่ละภูมิภาคแล้ว
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563