นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษา สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประกาศปิดห้างในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ส่งผลกระทบแน่นอนทั้งในด้านประชาชนที่แห่ไปซื้อสินค้า เพราะกลัวว่าจะปิด เดินทางไม่สะดวก โดยไม่ห่วงเรื่องของการติดเชื้อ อีกด้านย่อมกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีก เพราะการประกาศปิดห้างนั้น กทม.ให้คำนิยามอย่างใด ว่าอะไรคือห้าง อะไรคือซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่ยื่นขอก่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชยกรรม
บรรยากาศภายในเทสโก้ โลตัส สาขาจรัญสนิทวงศ์
“น้อยใจ ทำไมไม่เรียกสมาคมเข้าไปหารือก่อนที่จะลงในรายละเอียด เพราะการประกาศปิดห้างคืออะไร? นิยามที่ชัดเจนของคำว่า “ห้าง” คืออะไร เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตที่เปิดอยู่บนชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ เปิดได้หรือไม่ แล้วร้านค้าอื่นเช่น ร้านขายวัสดุก่อสร้าง แต่มีขายสินค้าอุปโภคบริโภคด้วย เขาสามารถเปิดได้หรือไม่จะทำอย่างไร ควรมีคำนิยามที่ชัดเจนกว่านี้”
ขณะนี้คณะกรรมการสมาคมอยู่ระหว่างการประชุมเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ ตามมาตรการที่เข้มข้นของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ด้วยการเว้นช่องว่างในการเข้าไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ การจำกัดจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการไม่ให้แออัดเกินไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เช่น ครั้งละ 50 คนต่อรอบ เป็นต้น ซึ่งความเข้มงวด และมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะทำให้ลูกค้ายากลำบากในการมาใช้บริการ จำนวนลูกค้าก็จะลดลงเองตามกลไก โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดหรือปิดให้บริการ
ลูกค้าแห่ซื้อสินค้าจำนวนมาก (ท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเพลินนารี่มอลล์)
“ตอนนี้สายเกินไปแล้ว เพราะทันทีที่ประกาศออกมาผลที่เกิดคือ ประชาชนตื่นตระหนก แห่ไปซื้อสินค้าจำนวนมาก การจราจรติดขัด ใครจะรับผิดชอบ”