นายกิตติ พรศิวะกิจ นายกสมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย และผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สทท.ได้เสนอแนวทางเร่งด่วนในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ใน 4 กลยุทธ์ ที่นำเสนอรัฐบาลและการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1. ป้องกัน โดยให้ผู้ประกอบการงดหรือลดกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลา 15-30 วันและทำความสะอาดเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชน
2. เยียวยา สทท.ขอให้พักชำระเงินต้นเป็นเวลา 12 เดือน และขอชำระดอกเบี้ย 50% แรกในระยะเวลา 12 เดือนและขอเลื่อนชำระดอกเบี้ย 50% หลัง เป็นระยะเวลา 12 เดือนสำหรับการเยียวยาหนี้เก่า และขอให้ปล่อยเงินกู้เร่งด่วน (ซอฟต์โลน) ก้อนใหม่ สำหรับเสริมสภาพคล่องของผู้ประกอบการในช่วง 9 เดือน (เมษายน-ธันวาคม 2563) โดยอนุมัติ วงเงินกู้ 70% ของรายจ่ายผู้ประกอบการในแต่ละราย เช่น เงินเดือน ประกันสังคม ค่านํ้า ค่าไฟ หรือรายจ่ายประจำต่างๆ ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 24 เดือนเริ่มชำระวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ส่วนเงินต้นเริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
3. พัฒนา สทท.มีโครงการพัฒนาที่กำลังดำเนินการ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ และหน่วยงานร่วมต่างๆ ทั้งระดับองค์กร และระดับบุคคล
โดยระดับองค์กร อาทิ โครงการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัย โครงการ Thailand Provincial Champion เพื่อค้นหา Product Signature ด้านการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 6 ราย โครงการพัฒนาช่องทางการตลาดสมัยใหม่ Online to Offline ส่วนโครงการระดับบุคคลจะมีการฝึกอบรมพนักงานและให้เบี้ยเลี้ยง 300-500 บาทต่อวัน คอร์สละ 3-10 วัน อาทิ พัฒนาด้านภาษาต่างประเทศ การสร้างสื่อดิจิทัล
4. ฟื้นฟู สทท.จะหาตลาดใหม่ทดแทนและสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่กับตลาดเดิม เริ่มจากไทยเที่ยวไทย หลังการแพร่ระบาดของไวรัสยุติลง ผ่านการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ร่วมกัน ซึ่งในโครงการพัฒนาต่างๆจะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีและมีสื่อดิจิทัลบนโลกออนไลน์มากขึ้น
“ในส่วนของการเยียวธุรกิจเอสเอ็มอี จากสสว.วงเงิน 5,000 ล้านบาท คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ส่วนงบ ด้านการพัฒนา คาดว่าจะอยู่ในหลัก 12-20 ล้านบาท โดยโครงการที่เป็นการพัฒนาองค์กร เรามีงบประมาณแล้ว และกำลังทยอยเปิดรับสมัคร ส่วนการพัฒนาระดับบุคคล กำลังรอการยืนยันจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรืออว. และการสนับสนุนงบเพิ่มเติมจากททท.”
นอกจากนี้ สมาคมการตลาดท่องเที่ยวไทย ยังจับมือกับ Tripwarp - B2B Marketplace ของคนไทย และ Travel Radio FM104.5 เพื่อสร้างโครงการ Social Credit ที่จะมีส่วนลดและ Gift Voucher ให้กับ Influencer และ Blogger จากทั่วโลก ที่มาช่วยทำการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยใช้กลยุทธ Influencer Marketing อีกด้วย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการซ่อม-สร้างท่องเที่ยว ใช้งบกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน เน้นการ ซ่อมสร้างสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในชุมชน วัด
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.เน้นสนับสนุนให้มีการ ซ่อมสร้าง (Rebuild) อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ผ่านแนวทาง “3A” เพื่อก้าวข้ามวิกฤติสู่ท่องเที่ยวยั่งยืน
ได้แก่ 1.Active Communication ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางอย่างมั่นใจ 2.Alternative Marketing ใช้การตลาดทางเลือก พร้อมหารายได้จากตลาดใหม่ๆ 3.Sustainability Attributes สร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เช่น การปรับสมดุลรายได้ท่องเที่ยวระหว่างตลาดในและต่างประเทศ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนรายได้ไทยเที่ยวไทย จากปัจจุบันครองสัดส่วน 1 ใน 3 เพิ่มเป็น 40-50% ในอนาคต
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,560 วันที่ 26-28 มีนาคม 2563