รฟท.สั่งกักตัวด่วนหลังพบผู้โดยสารติดโควิด-19  เสียชีวิต

01 เม.ย. 2563 | 11:07 น.
อัปเดตล่าสุด :24 เม.ย. 2563 | 02:34 น.

การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงเหตุผู้โดยสารรถด่วนกรุงเทพ-หาดใหญ่   เสียชีวิตบนขบวนรถ ติดเชื้อโควิด-19 สั่งกักตัวเจ้าหน้าที่-ผู้โดยสาร

รฟท.สั่งกักตัวด่วนหลังพบผู้โดยสารติดโควิด-19  เสียชีวิต

 

กรณีที่มีข่าวผู้โดยสารเสียชีวิต บนขบวนรถพิเศษทักษิณที่ 37 (กรุงเทพ – หาดใหญ่) วันที่ 30 มีนาคม 2563 ระหว่างขบวนรถจอดที่สถานีทับสะแก เพื่อให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่นทำการช่วยเหลือ และปรากฏว่าผู้โดยสารได้เสียชีวิต นั้น ล่าสุด วันนี้ (วันที่ 1 เมษายน 2563) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลามีหนังสือ แจ้งว่าผู้โดยสารเดินทางกับขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณที่ 37 ในวันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019

 

เบื้องต้น การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข  โดย ร่วมกับนายอำเภอ และสาธารณสุขอำเภอทับสะแก ทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อภายในรถ และกักรถโดยสารคัน อบยาก่อนทำความสะอาด พ่นยาฆ่าเชื้อโรคครั้งที่ 2ก่อนออกให้บริการ

 

ต่อจากนั้นได้ แจ้งรายชื่อผู้โดยสารร่วมขบวนรถจำนวน 15 คน ให้สาธารณสุขจังหวัดสงขลาติดตามดำเนินการต่อไป  และดำเนินการกักตัวพนักงานที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้เสียชีวิต ได้แก่ พนักงานสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อจำนวน 2 นาย พนักงานรักษาความปลอดภัยของเอกชนจำนวน 1 นาย พนักงานขบวนรถจำนวน 7 นาย ตำรวจรถไฟประจำขบวน 1 นาย

 

สำหรับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น การรถไฟฯ ได้มีการคัดกรองการตรวจวัดอุณหภูมิก่อนใช้บริการที่สถานีรถไฟทุกครั้ง หากพบอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ขอให้ผู้โดยสารหลีกเลี่ยงการเดินทาง หากจําเป็นต้องเดินทางขอให้มีใบรับรองแพทย์แสดง และกรอกแบบประเมินและรับรองตนเองเพื่อคัดกรองและยืนยันตนก่อนการเดินทาง นอกจากนี้ ได้ข้อความร่วมมือในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ใช้บริการที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป กลุ่มคนที่มีโรคประจําตัว และกลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา ควรงดการเดินทาง เว้นแต่บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีความจําเป็นตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563

นายวรวุฒิ  มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่ามีผู้โดยสาร (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ถือตั๋วโดยสารรถนอนปรับอากาศชั้นที่ 2 ขบวนด่วนพิเศษทักษิณที่ 37 วันที่ 30 มีนาคม 2563 คันที่ 4 เลขที่ 28 เดินทางจากสถานีชุมทางบางซื่อ – สุไหงโกลก เสียชีวิตบนขบวนรถ นำศพดำเนินการชันสูตรที่โรงพยาบาล อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขบวนรถถึงสถานีทับสะแก เวลา 22.30 น.

 

สอบสวนเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ ตรวจพบหลักฐานใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาล ประเทศปากีสถาน ออกเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เวลา 18.13 น. เวลาท้องถิ่นว่าสามารถเดินทางโดยเครื่องบิน ผู้โดยสารเข้าซื้อตั๋วโดยสารดังกล่าวในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เวลา 10.27 น. ที่สถานีชุมทางบางซื่อ เพื่อที่จะเดินทางในวันที่ 30 มีนาคม 2563

 

ในเวลาต่อมา วันที่ 30 มีนาคม 2563 ผู้โดยสารขึ้นรถไฟตามตั๋วโดยสารที่สถานีบางซื่อ ขณะเดินทางมีอาการไอ และอาเจียน เมื่อขบวนรถถึงสถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  เจ้าหน้าที่สถานีหัวหินนำเจ้าหน้าที่จุดคัดกรองของเทศบาลหัวหินขึ้นตรวจสอบผู้โดยสารบนขบวนรถ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 36 องศาเซลเซียส ไม่มีอาการไอหรืออาเจียนแล้ว และแนะนำให้ผู้โดยสารลงพักรักษาตัวที่สถานีหัวหิน แต่ผู้โดยสารยืนยันจะเดินทางต่อ

 

จนกระทั่งเวลา ประมาณ 22.15 น. เจ้าหน้าที่บนขบวนรถพบผู้โดยสารดังกล่าว ล้มนอนอยู่บริเวณหน้าห้องน้ำ จึงแจ้งและหยุดขบวนรถที่สถานีทับสะแก เจ้าหน้าที่สถานีทับสะแกแจ้งเจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่นขึ้นทำการช่วยเหลือ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยท้องถิ่นว่าผู้โดยสารเสียชีวิตแล้ว จึงทำการปลดรถโดยสารคันดังกล่าวออกจากขบวนที่สถานีทับสะแก และย้ายผู้โดยสารจำนวน 15 คน โดยสารกับตู้อื่น เพื่อรอพนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพแล้วนำศพส่งชันสูตรหาสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลทับสะแก  

 

วันที่ 31 มีนาคม 2563 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทับสะแกว่าผู้โดยสารเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว เบาหวาน แต่ได้นำสารคัดหลั่งของผู้เสียชีวิตส่งตรวจหาเชื้อโควิดและทราบในเวลาต่อมาว่า ผู้โดยสารที่เสียชีวิตบนขบวนรถติดเชื้อจริง