“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

09 เม.ย. 2563 | 11:17 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2563 | 12:37 น.

รายงานพิเศษ : เส้นทางชีวิตที่ขรุขระ กว่าจะมาเป็น “โฆษกศบค.” 

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักโฆษกหน้าตี๋ “หมอศิลป์ หรือ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ที่จะมาทักทายคุณผู้ชมก่อนเที่ยง รายงานสถานการณ์โควิดทั้งไทยทั้งเทศ อัพเดทมาตรการคุมระบาดใหม่ๆแบบอินไซด์วงประชุม พร้อมกับชี้แจงข่าวลือข่าวลวง แทน “นายกลุงตู่” ในนาม“ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19. ) หรือ ศบค.  

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“หมอทวีศิลป์” มาได้ถูกจังหวะ ถูกที่เวลา ท่ามกลางพายุไวรัสโควิดถาโถมผสมปนเปถล่มระบบการสื่อสารที่สังคมเชื่อใจได้ของรัฐบาล เป็นช่วงจังหวะที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องการใครสักคน ที่ไม่ใช่ใครก็ได้ ไม่มีภาพลักษณ์ทางการเมืองให้คนร้องยี้ เข้าใจงานด้านสาธารณสุข พูดจารู้เรื่องอักขระชัดถ้อยชัดคำ   และเข้าใจหัวอกของประชาชน ว่าควรหรือไม่ควรสื่อสารว่าอะไรในยามนี้ หลังจากนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้อำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 26 มีนาคม 2563

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

พร้อมกับเลือกด้วยตัวเองว่าขอให้ “หมอทวีศิลป์” อัพเกรดจากโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่นั่งแถลงสถานการณ์รายวันอยู่ที่กระทรวงฯ มาทำหน้าที่เป็นขุนพลด่านหน้าในการคุมโทนการสื่อสารข้อมูลนับจากนั้นเป็นต้นมา และลีลาการแถลงการณ์ และตอบคำถามสารพัดคำถามจากสื่อมวลชนและจากทางบ้านของโฆษกหน้าตี๋คนนี้ เป็นที่พออกพอใจของลุงตู่ทุกครั้งเพราะนั่งมอนิเตอร์ดูการแถลงด้วยตัวเองถ้าพอจะมีเวลา

ภายใต้ความกดดันในสถานการณ์ที่ “พลาดไม่ได้แม้แต่ประโยคเดียว” เมื่อย้อนดูเส้นทางชีวิตของหมอทวีศิลป์ เรียกว่าผ่านความกดดันมาแทบทุกช่วงของชีวิต ชนิดที่พลาดไม่ได้เลยสักช่วง 

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ภูมิลำเนาของ อยู่ที่เมืองโคราช กับครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำราย มีอาชีพค้าขาย เปิดร้านโชวห่วย อยู่หน้าตลาดเทศบาล 2 วัยเด็กของด.ช.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน หรือชื่อเล่น “ศิลป์” ต้องช่วยพ่อแม่ขายของทุกวัน วันหนึ่งชีวิตเกิดหักเหเมื่อคุณพ่อประสบอุบัติเหตุต้องขาพิการ 

ครอบครัวต้องพลิกชีวิตแบบหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยอยู่ที่ตลาด ก็ต้องย้ายออกมาอยู่นอกเมือง บนที่ดินที่พ่อสะสมเงินซื้อไว้แถวชานเมืองโคราช เนื้อที่ประมาณ 100 ตารางวา ริมทางรถไฟถนนมิตรภาพ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ กำลังหลักในครอบครัวเปลี่ยนมือจากพ่อแม่ กลายเป็นแม่และลูก 5 คน คนโตชื่อ ทวีศักดิ์ ต่อมาคือ ทวีศิลป์ คนกลางชื่อ ทวีชัย ถัดไปชื่อ ทวีโชค และน้องคนเล็ก รวีวรรณ เป็นผู้หญิงคนเดียว

ทั้ง 5 คน เป็นกำลังเสริมให้กับแม่ โดยมีด.ช.ทวีศิลป์ลูกคนที่ 2 ต้องเลี้ยงหมูขาย วิดบ่อหาปลาแถวนั้นเพื่อนำไปขาย ขายก๋วยเตี๋ยว ขายของทุกอย่าง ที่ขายได้ ทำขนมผิง พับถุง เพื่อประคองครอบครัว บางวันลำบากถึงขนาดไม่มีข้าวจะกรอกหม้อ ไม่มีอะไรให้หมูกิน ด.ช.ทวีศิลป์ต้องเดินไปขอ “น้ำข้าว” ตามบ้านมาเลี้ยงหมู

จากบ้านไปโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา ต้องนั่งสามล้อนั่งไปกลับ ต้องเก็บผักตบชวามาซอยผสมรำข้าวกับน้ำข้าว โดยมีช่วยพ่อหาฟืนจากญาติที่ทำเฟอร์นิเจอร์ นำขี้เลื่อยจากเศษไม้เป็นฟืนต้มข้าวหมู เมื่อเข้าวัยมัธยม ชะตาชีวิตยังไม่ปิดกั้น ได้เรียนต่อที่โรงเรียนบุญวัฒนา 

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ในความลำบากยังมีความฝันของพ่อแม่ ที่ตั้งใจอยากให้ด.ช.ทวีศิลป์และลูกๆ โตมาขึ้นมามีอาชีพเป็นหมอ เพราะเชื่อว่า "เราจะเปลี่ยนแปลงความทุกข์ยากของเราได้ ก็คือ การได้เป็นหมอ ได้เรียนดีๆ" ความฝันของพ่อแม่ดูจะสวนทางกับความคิดของลูกชายที่รู้ตัวเองดีกว่าไม่ได้เป็นคนหัวดี และความจริงที่ถันดและชอบคือด้านศิลปะ เพราะเคยประกวดได้เงินรางวัล

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

จบมัธยมอันดับคะแนนอยู่ต้นๆของสายวิทย์-คณิต และสอบติด “จิตแพทย์” โควต้าแพทย์ชนบท ที่คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พอเรียนจบแพทย์ปี 6 เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลจิตเวช นครราชสีมา มองเห็นแล้วว่าไม่ค่อยมีคนสนใจเข้ามาเป็นจิตแพทย์ และโชคดีว่าที่โคราชบ้านเกิดมีตำแหน่งให้ลงพอดี แต่ละวันต้องอยู่กับคนไข้ที่มาปรึกษาปัญหาทางจิตมีหลากหลาย ทั้งวิตกกังวล ความเครียด บ้างก็มาแบบหลงลืมตัว  หมดสติ อาละวาด คลุ้มคลั่ง ทำร้ายตัวเอง กินยาฆ่าตัวตาย 

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

หลังจากนั้นก็ได้เข้าเรียนที่ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันชื่อ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) และได้เข้าทำงานที่นี่ และทำหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ควบคู่กันไป จนปี 2537 ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเพิ่มเติมด้านจิตเวชที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ทางด้านประสาทจิตเวชศาสตร์ 

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แต่จุดพลิกผันเป็นช่วงที่อยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทำหน้าที่ตอบคำถามเรื่องจิตเวชผ่านสื่อต่างๆ ดูแลงานด้านวิชาการ ทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนกลายเป็นผู้ตอบคำถามทั้งหลายให้กับทางกรมสุขภาพจิต จนกระทั่งปี 2546 - 47 ขณะที่เป็นนายแพทย์ระดับ 8 ได้รับโอกาสเข้ามาทำงานอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากการเป็นโฆษกกรมสุขภาพจิต แล้วขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตและสังคม พร้อมดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวงสาธารณะสุข 

จนก้าวขึ้นมาเป็นที่รู้จักในนาม โฆษกศบค. ในตอนนี้ 

“โฆษกศบค.” กับเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

 

ฟัง "หมอทวีศิลป์" ร้องเพลงส่งแรงใจให้คณะแพทย์ มข.