นับเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2511 ที่ผ่านมาธุรกิจต้องเผชิญกับมรสุมมาแล้วหลายครั้ง จนถึงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบหนักสุด แต่ปัจจุบันเจ้าของโรงแรมซึ่งเป็นเจเนอเรชัน 3 ก็พร้อมที่จะฝ่าวิกฤติที่เกิดขึ้น หลังจากต้องปิดบริการชั่วคราวเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา อ่านได้จากสัมภาษณ์นายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมโฆษะ ขอนแก่น
โรงแรมแห่งนี้อยู่คู่กับจังหวัดขอนแก่นมาช้านาน ในอดีตจัดว่าเป็นโรงแรมชั้นดีแห่งแรกในภาคอีสานและในจังหวัด ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการสาขาภาคตะวันออกที่ขอนแก่น และยังเป็นลูกค้าชุดแรกของโรงแรมด้วย ซึ่งการมีที่พักสะดวกสบาย ก็ดึงให้คนเข้ามายังขอนแก่นเพิ่มขึ้น โดยผมเข้ามารับช่วงต่อในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา
ที่ผ่านมาธุรกิจไปได้ดีเมื่อโรงแรมครบรอบ 25 ปีเราก็เปิดตึกที่ 2 รวมห้องพักกว่า 200 ห้อง ซึ่งภาคอีสานโดยเฉพาะขอนแก่น กลุ่มตลาดของโรงแรมจะไม่ใช่คนที่เดินทางมาเที่ยวธรรมชาติ แต่เป็นกลุ่มตลาดประชุมสัมมนาเป็นหลัก เนื่องจากขอนแก่นเป็นเหมือนศูนย์ราชการระดับภาค มีทั้งแบงก์ชาติมาเปิดสำนักงาน มีศูนย์กระจายสินค้า มีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมในอีสานจึงพอไปได้ แต่อัตราค่าห้องพักเฉลี่ยอาจจะไม่สูงเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวก็ตาม กระทั่งเศรษฐกิจไม่ดีในช่วง4-5 ปีที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักเฉลี่ยจากเดิมจะอยู่ที่ 70-80% ก็ลดลงเหลือราว 50% กว่าๆ แต่พอมาเจอโควิด ก็เหลือ 0%เลย และเราก็ได้ปิดโรงแรมชั่วคราวไปเมื่อจังหวัดขอนแก่นสั่งให้ปิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
การปิดโรงแรมเอกชนก็เห็นด้วยและผมในฐานะนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคอีสาน ก็เป็นคนทำจดหมายสนับสนุนเรื่องนี้ เนื่องจากผมเชื่อในทฤษฎีว่าถ้าจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น ควรจะต้องหยุดการเคลื่อนไหวการปิดโรงแรมชั่วคราวก็จะมีส่วนช่วยได้ เนื่องจากในขอนแก่นมีที่พักทุกประเภทรวม กว่า 400 โรงแรมบุคลากรรวมกว่า 4 พันคน
“วิกฤติโควิดกระทบธุรกิจโรงแรมหนักกว่าตอนต้มยำกุ้งมาก เพราะตอนนั้นแม้เศรษฐกิจไม่ดีแต่เราก็มีลูกค้าประจำ มีสภาพคล่องที่จะดำเนินงานไปได้ แตกต่างจากครั้งนี้ที่สภาพคล่องเป็นศูนย์ และยังไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดจะยุติลงเมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องฝ่าปัญหาในครั้งนี้ไปแล้ว และจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งอย่างแน่นอน”
ขณะนี้เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อนคือการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งผมเองก็ลดเงินเดือนลง 80% ส่วนผู้บริหารระดับสูงก็ลดเงินเดือนลง 50% เพื่อให้ลูกน้องพอไปได้ วันนี้ก็เหมือนเราอยู่ในภาวะสงคราม นอกจากจะต้องชนะโรคร้าย ปากท้องก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด พนักงานกว่า 200 คนส่วนใหญ่อยู่กับเรามานานเงินเดือนก็จะเกิน 1.5 หมื่นบาทไปแล้ว การไปรับเงินชดเชยจากประกันสังคม 62% ก็อาจจะได้ในระดับหนึ่งแต่ทุกคนก็มีภาระครอบครัวที่ต้องดูแล
ด้วยความที่ผมเป็นประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีขอนแก่น (วิสาหกิจเพื่อสังคม) อยู่และมีหลักคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว จึงได้นำนวัตกรรมไก่สายพันธุ์ KKU1 ซึ่งเป็นไก่ที่มีคุณสมบัติที่มีไขมันตํ่าและยูริคตํ่ากว่าไก่ทั่วไป 67% เป็นไก่พรีเมียม ไม่ให้ยาปฏิชีวนะหรือฮอร์โมน ซึ่งทางบริษัทประชารัฐฯลงทุนซื้อลูกไก่และอาหารไก่ให้ก่อน ใช้เวลาเลี้ยง 5 สัปดาห์ก็ขายได้ เพื่อให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมที่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมามีเลี้ยงไก่กว่า 100 ครอบครัว ที่นอกจากปกติจะส่งขายในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะที่เลมอนฟาร์มเป็นหลัก
ดังนั้นพอมีโควิดเราก็ซื้อไก่เอามาทำเป็นไก่ย่างแช่แข็งพร้อมทานพร้อมนํ้าจิ้มสูตรเฉพาะ ส่งขายแบบดีลิเวอรี ที่กรุงเทพฯ ก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับพนักงานของโรงแรมในช่วงนี้ และอีกช่องทางขายของเกษตรกรด้วยเช่นกัน
ผมเชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เราผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ประกอบกับที่ผ่านมาผมมีกัลยาณมิตรที่ดี จากโครงการเพื่อสังคมมากมายที่ได้ทำขึ้นมาโดยตลอด เช่นเรามีห้องบริจาคโลหิตของสภากาชาดไทยอยู่ภายในโรงแรม ที่วันนี้แม้โรงแรมจะปิดให้บริการชั่วคราว แต่ห้องบริจาคเลือดนี้ยังเปิดบริการอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาเรารณรงค์การบริจาคเลือดมาโดยตลอด จนมีเลือดสะสมที่รับบริจาคที่นี่รวมแล้วกว่า 24 ล้านซีซีเพื่อส่งให้โรงพยาบาลต่างๆ กว่า 80 แห่งใน 11 จังหวัดภาคอีสานตอนบน
การทำแพขนาดใหญ่ช่วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขนนํ้า กว่า 200 แกลลอนไปแจกชาวบ้านที่ประสบภัยสึมามิ และอีกหลายโครงการเพื่อสังคมในขอนแก่น ดังนั้นกันยาณมิตรที่เรามีมาตลอดหลายปีจะมีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆ ของเราในช่วงนี้ และมั่นใจว่าคุมการแพร่ระบาดได้ ธุรกิจก็จะกลับมาได้เหมือนเดิม เพราะเรามีลูกค้าประจำและมีกลุ่มตลาดที่ชัดเจน
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16-18 เมษายน 2563