ถึงนาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จะถูกบันทึกที่ไว้ในหน้าประวัติศาสตร์โลก เหมือนกับการระบาดใหญ่ สะเทือนโลกอย่าง อหิวาตกโรค ครั้งที่ 6 (2453-2454) ไข้หวัดใหญ่สเปน (2461) ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (2499-2501) ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (2511) เอชไอวี/เอดส์ และไข้หวัดใหญ่ 2009 (2552)
กรณีประเทศไทย เหตุการณ์หนึ่งที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ คือกรณีกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ “ซุกงบประมาณ” ด้วยการใช้เทคนิคต่างๆ ในการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่จะจัดทำพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้น้อยที่สุด แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่า แต่ละกระทรวงต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำลง 10% ก็ตาม
กระทรวงที่มีการ “ซุกงบ” มากที่สุด คือ กระทรวงคมนาคม ภายใต้การกำกับของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 กว่า 178,840 ล้านบาท
ผู้เขียนได้รับข้อมูลเอกสารที่เชื่อถือได้จากทำเนียบรัฐบาล อันเป็นศูนย์กลางในการบริหารประเทศว่า กระทรวงคมนาคมได้เสนอให้มีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงลง 3,453.5 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของบประมาณรายจ่ายของกระทรวงคมนาคมที่ได้รับการจัดสรรในปี 2563 แบ่งเป็นการปรับลดงบรายจ่ายประจำ 159.2 ล้านบาท และงบลงทุนอีก 3,294.2 ล้านบาท
ครั้นเมื่อมีการขอให้ปรับลดงบประมาณเพิ่มเติม คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างและทำสัญญาโครงการไว้หมดแล้ว จึงไม่สามารถปรับลดได้อีก
แต่เมื่อมีการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลางมาตรวจสอบลงไปในรายละเอียดกลับพบว่ายังมีงบประมาณที่สามารถปรับลดลงได้อีกกว่า 7,712 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบลงทุนที่ยังไม่มีการจัดซื้อจัดจ้างหรือทำสัญญา กว่า 7,699.8 ล้านบาท
จนได้มีการเสนอเรื่องให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร และได้ข้อสรุปว่าให้ปรับลดงบที่ตรวจสอบพบเพิ่มเติมอีก 7,712 ล้านบาท มารวมกับงบที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดไปก่อนหน้านี้ 3,453.5 ล้านบาท ทำให้งบของกระทรวงคมนาคมที่ปรับลดได้มีจำนวนทั้งสิ้น 10,994.2 ล้านบาท
นอกจากกระทรวงคมนาคมแล้วยังมีอีกหลายกระทรวงที่ใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อปรับลดงบประมาณของตัวเองน้อยที่สุด แต่ไม่มีวงเงินที่สูงเหมือนกับกระทรวงคมนาคม
ล่าสุดเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากเอกสารของสำนักงบประมาณที่ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 พบว่า อันดับกระทรวงที่มีการปรับลดงบประมาณสูงสุดเรียงตามลำดับ ดังนี้ 1. กระทรวงการคลัง 36,100.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดงบประมาณสำหรับการชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ย 2. กระทรวงกลาโหม 18,082.9 ล้านบาท 3. กระทรวงคมนาคม 10,994.2 ล้านบาท 4. กระทรวงมหาดไทย 6,340.5 ล้านบาท 5.กระทรวงศึกษาธิการ 5,045.2 ล้านบาท
6. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2,617.8 ล้านบาท 7. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2,199.6 ล้านบาท 8. สำนักนายกรัฐมนตรี 1,417.8 ล้านบาท 9. กระทรวงสาธารณสุข 1,132.1 ล้านบาท 10. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 865.9 ล้านบาท
11. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 749.2 ล้านบาท 12. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 668.9 ล้านบาท 13. กระทรวงยุติธรรม 553.1 ล้านบาท 14. กระทรวงพาณิชย์ 346.8 ล้านบาท 15. กระทรวงวัฒนธรรม 296.2 ล้านบาท
16. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 267.6 ล้านบาท 17. กระทรวงอุตสาหกรรม 201.9 ล้านบาท 18. กระทรวงการต่างประเทศ 78.0 ล้านบาท 19. กระทรวงแรงงาน 70.7 ล้านบาท 20. กระทรวงพลังงาน 37.7 ล้านบาท
นอกจากกระทรวงต่างๆ แล้วยังมีงบประมาณของรัฐวิสาหกิจ กองทุน และหน่วยงานรัฐอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เมื่อรวมงบประมาณที่ปรับลดได้ครั้งนี้จะมีวงเงินรวม 100,395 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำไปตั้งงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน เร่งด่วน เพื่อค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย รวมทั้งกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นอื่น ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงปีงบประมาณ 2563
คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26-29 เมษายน 2563