ผ่ามุมคิด
ในสถานการณ์ไม่คาดฝัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต มีหลากหลายเทรนด์ความเป็นอยู่เกิดขึ้น และแม้ที่ผ่านมาเทรนด์การรักสุขภาพของคนไทยจะเป็นที่นิยมอยู่แล้ว แต่นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้มุมมองว่า หลังการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวยุติลงแล้ว ผู้คนจะมีแนวโน้มหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้นอีก เพื่อลดความเสี่ยงจากการอาจติดเชื้อไวรัสใหม่ๆ ในอนาคต เจาะวิกฤติโควิด ตัวกระตุ้นความเปลี่ยนแปลงในภาคอสังหาฯ ผ่าน 4 เทรนด์ใหม่น่าจับตาที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ เมื่อ “ผู้ซื้อยุคต่อไปจะลงรายละเอียดมากขึ้น ต่างจากภาพในอดีต ท้าทายผู้พัฒนาฯ ออกแบบดีไซส์ ให้ตอบโจทย์รองรับ ฟันธงตลาดบ้านหลัง 2 บูมอีกรอบ”
จุดเปลี่ยนอสังหาฯ
สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งนอกจากแต่ละเซกเตอร์ เช่น โรงแรม รีเทล และกลุ่มโครงการที่อยู่อาศัย จะเกิดผลกระทบในรูปแบบแตกต่างกันออกไปแล้ว เรามองว่าหลังจากผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว พฤติกรรมของผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเช่นกัน บางอย่างอาจเป็นเพียงความต้องการระยะสั้นๆ ขณะที่บางอย่างจะกลายเป็นเทรนด์ที่อยู่ระยะยาว ฉะนั้นผู้พัฒนาฯ ในเซกเตอร์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัย จะต้องปรับตัวอย่างหนัก ตั้งแต่รูปแบบดีไซน์ของโปรดักต์ ไปจนถึงบริการหลังการขาย โดยคำนึงถึงความต้องการใหม่ๆที่เกิดขึ้น เช่น การจัดสรรฟังก์ชันพื้นที่ในบ้านหรือคอนโดฯ สำหรับการ Work From Home อย่างถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดในแง่พื้นที่ หรือ ราคาเฉลี่ยต่อยูนิต ในเซ็กเมนต์ระดับบนที่ทำได้ แต่สำหรับเซ็กเมนต์ระดับกลาง-ล่าง ที่มีข้อจำกัดของราคาดึงไว้ นับเป็นความท้าทายของผู้พัฒนาฯ ในการบริหาร จัดสรรพื้่นที่ต่อยูนิตให้เกิดความหลากหลายและเป็นส่วนตัว เพื่อรองรับทั้งการทำงาน และเรียนหนังสือรูปแบบออนไลน์ของเด็กยุคใหม่ด้วย
จับตา 4 เทรนด์ใหม่
ผู้บริโภคหลังจากนี้ จะให้ความสำคัญกับคำว่า Health และ Wellness ที่เกี่ยวโยงกับสุขอนามัย ความสะอาด และสุขภาพที่ดีมากขึ้น มีความต้องการละเอียดอ่อน เช่น ระบบอากาศบริสุทธ์ภายในห้อง ,เครื่องตรวจจับฝุ่นละออง-เชื้อโรค เช่นเดียวกับ การรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing จะเป็นอีก 1 เทรนด์ที่อยู่ต่อเนื่องกับสังคมไทย เนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่มาตรการรับมือและการรักษาด้านสาธารณสุขยังไม่สำเร็จชัดเจน ทำให้คนยังคงกังวล และระมัดระวังตัวไม่เหมือนเก่า ก่อให้เกิดค่านิยม คนอยู่ติดบ้านมากขึ้น ฉะนั้น อย่างที่ระบุ พื้นที่ภายในบ้าน จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ต้องมีขนาดใหญ่มากพอ สำหรับรองรับทุกกิจกรรม และจำนวนคนในครอบครัว ผู้พัฒนาฯเอง จำเป็นต้องศึกษา ว่าจะนำเทรนด์ดังกล่าว มาปรับ ประยุกต์สำหรับการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆอย่างไร เพื่อเป็นประโยชน์ รองรับความต้องการใหม่ๆอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การกักตัว แยกตัว และอยู่ติดบ้าน ที่จะมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคตนั้น เป็นตัวเร่งให้เรื่อง ดิจิทัลเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในวงการอสังหาริมทรัพย์ของไทยมากขึ้นเช่นกัน ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และแทบจะทุกวัย ต่างจากเดิมที่อาจเป็นความต้องการแค่ของกลุ่มคนสมัยใหม่ เช่น แอพพลิเคชัน สั่งการ-จ่ายครบ ครอบคลุม
ความต้องการบ้านหลัง 2 มาแน่
นางสาวอลิวัสสา กล่าวอีกว่า อดีต การบริหารความเสี่ยง มีความหมายครอบคลุมเฉพาะสำหรับคนที่ทำธุรกิจเท่านั้น แต่อนาคต คนปกติทั่วไป จะมองไปยังแผน 2 ของชีวิต โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย (บ้านหลังที่ 2 ) เพื่อรองรับวิกฤติที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม หรือ โรคระบาดที่เกิดขึ้น ซึ่งมองว่า เป็นแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อแนวทางการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆของผู้ประกอบการ
“อดีต บ้านหลังที่ 2 เป็นการลงทุนของคนเฉพาะกลุ่ม ด้วยเหตุผล ไม่กล้าลงทุน พักโรงแรมง่ายและสะดวกกว่ามาก แต่วิกฤติโควิด-19 อย่างแรกที่กระทบคือ ภาคโรงแรม สะท้อนถึงความไม่แน่นอน คาดทำให้บางรายฉุกคิด กลับมาให้ความสำคัญในการมีบ้านหลังที่ 2”
ทั้งนี้ จะส่งผลให้ดีมานด์ในบ้านหลังที่ 2 เติบโตกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งการซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และการซื้อเพื่อลงทุน โดยให้เชนจ์โรงแรมบริหารจัดการให้ ในทำเลแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เช่น หัวหิน พัทยา และภูเก็ต เป็นต้น
หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม 2563