ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มีพิธีส่งคณะแพทย์ พยาบาล และทีมบุคลากรทางการแพทย์ กลับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลังช่วยรักษาดูแลคนไข้โรคโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (โรงพยาบาลสนามภูเก็ตแห่งที่ 2 ) จนสถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้นมากแล้ว
ทีมบุคลากรทางการแพทย์จากมอ.สงขลา เดินทางมาปฎิบัติหน้าที่บนเกาะภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 เป็นต้นมา ขณะแนวโน้มผู้ติดเชื้อที่ภูเก็ตยังเพิ่มสูง เริ่มมีคนไข้คนแรก เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563 จากโรงพยาบาลป่าตอง หลังจากนั้นก็มีมาจาก รพ.ป่าตอง รพ.ถลาง โดยมีผู้ป่วยเข้ารับการดูแลที่รพ.สนาม 2 จำนวน 9 คน ชุดแรก 3 รายหายป่วยเดินทางกลับเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ขณะนี้มีผู้ป่วย จำนวน 6 คน อยู่ระหว่างรอการยืนยันผลตรวจอีกครั้ง หากผลไม่มีเชื้อสามารถเดินทางกลับบ้านได้ แต่ถ้าผลยังมีเชื้อจะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลป่าตองต่อไป
นอกจากนี้ได้สักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และพร้อมมอบดอกไม้เพื่อแสดงการขอบคุณ ที่มาช่วยเหลือชาวจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายกเทศบาลเมืองกะทู้ นายกเทศบาลเมืองป่าตอง นายกเทศบาลเมืองนครภูเก็ต ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความขอบคุณในครั้งนี้ ก่อนที่คณะบุคลากรทางการแพทย์จากสงขลา จะได้เดินทางไปรายงานการดำเนินงานแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต่อไป
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินงานโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต (โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 2) ซึ่งได้ทำการยุติการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด 19 ชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในจังหวัดภูเก็ตดีขึ้น แต่ยังคงความพร้อมของอุปกรณ์และสถานที่เอาไปเผื่อพร้อมปฏิบัติหน้าที่สำหรับอนาคต หากมีการระบาดระลอกใหม่
ในช่วงเช้าทางบุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก ได้ร่วมเลี้ยงส่งและขอบคุณทางทีมคณะแพทยศาสตร์ ที่ได้มาร่วมช่วยเหลือแก้ปัญหาวิกฤติการะบาดของโรคในครั้งนี้
พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ภาครัฐและเอกชน เห็นร่วมตรงกันที่จะช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายด้านการดูแลสุขภาพของคนในฝั่งอันดามัน ให้บรรลุเป้าหมายตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีนโยบายไว้ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของสภาพพื้นที่อย่างเร่งด่วน