ปัญหาการบินไทย ที่มีแต่ ‘บอร์ดกับบอด’

26 พ.ค. 2563 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ค. 2563 | 02:39 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3578 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.63 โดย...พรานบุญ

 

            อึ่งอ่าง คางคก กบ เขียด ส่งเสียงร้อง อึ่ง อ่าง ๆๆๆๆๆ เสียงดังระงมเมื่อพายุฝนเดือน 5 ยังไม่ถึงเดือน 6 ดันตกลงมาห่าใหญ่ท่วมไปทั่วท้องทุ่งวิภาวดีรังสิต

            ขนาดนายพรานผู้ท่องไพร อีเห็น เก้ง กวาง บ่าง ชะนี ยังตัวเปียกปอนหนาวสั่นไปทั้งตัว

            นับประสาอะไรกับบรรดาพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สายการบินแห่งชาติที่ทั้งโลกต่างชื่นชมว่า บริการดีเยี่ยมระดับ World Class จำนวนกว่า 21,500 คน ที่ฝากชะตาชีวิตไว้กับธุรกิจการบินที่แข่งขันกันสูงแต่ต้องมาพ่ายยับให้กับ “ไวรัสวายร้าย”

            ธุรกิจการบินที่ทำรายได้ปีละ 1.88-2.2 แสนล้านบาท ต้องเข้าไปอยู่ห้องไอซียู เดิมพันระหว่างความเป็นความตาย 50/50

            ยิ่งเมื่อเจอคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงนามแต่งตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” หรือ คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ขึ้นมาอีก 1 ชุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีต รมว.คลัง ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รื่นฤดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการ

            อำนาจและหน้าที่ของ “ซูเปอร์บอร์ด” ชุดนี้มี 3 อย่าง คือ เป็นตัวแทนภาครัฐในการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย ในการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลและการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน

            ให้คำแนะนำแก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ แก้ไขปัญหาบริษัท การบินไทย เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของภาครัฐโดยไม่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของศาล

            กลั่นกรอง ตรวจสอบและอำนวยความสะดวก หรือประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์แก่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และการดำเนินกิจกรรมของบริษัท การบินไทย ตามที่การร้องขอ

            แปลความตามท้องเรื่องคือ ทำหน้าที่กำกับนโยบาย ติดตามการทำงานของบริษัท การบินไทย แทนที่ “กระทรวงคมนาคม-กระทรวงการคลัง” ที่งัดข้อกันกำกับแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด...

            แน่นอนว่าเป็นข้อดี ที่ทำให้การเมืองมิการล้วงเข้าไปในการแก้ไขปัญหาสายการบินแห่งชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ จะได้ไม่ต้องตีกันให้เกิดความปั่นป่วน จนแผนฟื้นฟูเดินหน้าไปไม่ได้

            แต่สำหรับการดำเนินการของการบินไทยจะยุ่งเป็น “ยุงตีกัน” แน่นวล เชื่อมือนายพรานผู้ชำนาญไพรเต๊อะนาย...ทำไมนะรึขอรับ...

            เพราะนับจากนี้ไป การบินไทย จะทำงานอะไรต้องผ่าน 3 บอร์ด บอร์ดแรกคือ ซุปเปอร์บอร์ด 

            บอร์ดที่ 2 สำคัญที่สุดคือ คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตอนนี้ชัดเจนว่าไม่มีคนการเมืองเข้าไปแม้แต่ “หน่อเดียว” แต่จะมี “คนของท่าน” 6 คน หรือ 6 อรหันต์ ที่ต้องร่วมกันทำแผนฟื้นฟู เจรจาเจ้าหนี้เงินกู้ เจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้เครื่องบิน คู่ค้า เพื่อนำพาองค์กรเจ้าจำปีให้รอด

            คณะกรรมการผู้ทำแผนประกอบด้วย 1. บิ๊กต่าย-พล.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน อดีต ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ปัจจุบันเป็นประธานบอร์ดการบินไทย 2.พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีต รมว.ยุติธรรม ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 3.บุญทักษ์ หวังเจริญ อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย 4.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคม อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.5.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย 6.จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการ กรรมการผู้อำนวยใหญ่ บริษัท การบินไทย

            6 อรหันต์ นี่แหละจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการทำงานให้การบินไทยพ้นหุบเหว และต้องเป็นเจาจาต้าอ่วยกับบรรดาเจ้าหนี้ 244,899 ล้านบาท ในจำนวนนี้กว่า 2.12 แสนล้านบาท เป็นหนี้ค่าเช่า-ซื้อเครื่องบิน หนี้ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน หนี้เงินกู้ระยะสั้น หนี้เงินกู้ระยะยาว เจ้าหนี้การค้า

            ยังมีเจ้าหนี้เงินกู้ระยะสั้นเครดิตไลน์ 13,500 ล้านบาท เงินกู้ Uncommitted Credit Line 7,800 ล้านบาท เจ้าหนี้เงินกู้ต่างประเทศสกุลเงินยูโร คือกระทรวงการคลัง 11,977 ล้านบาท เงินกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 437 ล้านบาท เงินกู้ธนาคารพาณิชย์ 10,873 ล้านบาท

            หนี้หุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 9,085 ล้านบาท หนี้สถาบันการเงินต่างประเทศ 21 แห่ง สำหรับเครื่องบิน 42 ลำ กำหนดจ่ายช่วงปี 2563-2573 รวม 50,110 ล้านบาท

            จะลดทุนเพิ่มทุน เจรจาเงินกู้มาใช้จ่ายเป็นสภาพคล่องในการทำธุรกิจการบินไทย การจะจ่ายเงินใครสักบาทสักสตางค์ การจะจ้างที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาการเงิน ทนายความสักคน จะเซ็นเช็คสักใบ จะจ่ายค่าคอมมิสชัน ส่วนลด หรือจะเรียกว่า “เงินคิกแบ็ก-อินเซนทีฟ” ในการขายตั๋วให้ใครสักราย แม้แต่การจะจ่ายเงินเดือนพนักงาน ยังต้องให้ 6 อรหันต์การบินไทยอนุมัติ คนอื่น “ห้าม”

            บอร์ดชุดที่ 3 คือ บอร์ดบริษัท การบินไทย ชุดที่มี “บิ๊กต่าย” เป็นประธาน พล.อ.อ.ชาญยุทธ ศิริธรรมกุล เป็นรองประธาน ดีดีจุ๊ก-จักรกฤศฏิ์ พีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดคมนาคม ที่เป็นประธานกรรมการบริหารและเป็นกรรมการมาตั้งแต่ปี 2558 วัชรา ตันตริยานนท์ พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย นิตยา ดิเรกสถาพร สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต คนที่พรรคภูมิใจไทยเลือกมาเป็นกรรมการ 8 คนนี้

ไปรวมกับอีก 4 คนที่ตั้งเข้ามาใหม่ คือ “พีระพันธ์-ปิยสวัสดิ์-บุญทักษ์-ไพรินทร์”

            นังบ่างบอกว่า ในทางปฏิบัติบอร์ดบริษัทชุดนี้ไม่มีราคา มีแต่ราคี อำนาจไม่มี ทุกอย่างนับตั้งแต่ศาลล้มละลายรับการฟื้นฟูกิจการ อำนาจการจัดการจะไปตกอยู่ในมือ 6 อรหันต์ที่ทำแผนฟื้นฟูแบบ 100% ไม่เช่นนั้นเจ้าหนี้ไม่ยอมรับ ยกเว้น 6 อรหันต์ที่ทำแผนจะมอบดาบการจัดการ “ปฏิบัติการการบิน-การจัดการ” ให้บอร์ดชุดนี้ทำงาน “รูทีน”

            ไม่เช่นนั้นบอร์ดบริษัทการบินไทยชุดเดิม ที่ “นายท่าน” แต่งตั้งมาเห็นผลการขาดทุนของการบินไทยตำตามายาวนานแต่ทำอะไรไม่เป็น ก็ทำได้แค่เดินเต๊ะจุ๊ย กินผลตอบแทน เบี้ยประชุมเท่านั้น ไม่มีอำนาจจัดการบริษัทการบินไทยแม้แต่นิดเดียว

            อีเห็นตะโกนก้องบอกว่า ในภาวะเช่นนี้ บอร์ด นักการเมืองหน้าไหน อย่าแม้ตาบอดคิดจะตั้ง “เมีย” ตัวเองให้ขึ้นนั่งตำแหน่งไดเร็กเตอร์ เชียวนะ ไม่เช่นนั้นพัง!