เตรียมพร้อม ฟื้นท่องเที่ยว หลังควบคุมการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ธุรกิจต่างๆ เร่งปรับตัวในการกลับมาเปิดดำเนินการใหม่ภายใต้แนวปฏิบัติเพื่อการควบคุมโรค อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอีกภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ หลายจังหวัดเร่งระดมสมองวางกลยุทธ์เพื่อฟื้นให้ท่องเที่ยวกลับมาคึกคักโดยเร็ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขอรัฐตั้งงบ 50 ล้านบาท ชูเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพเพิ่ม 50,000 คน ด้านจังหวัดระนองฟื้นท่องเที่ยวเป็นขั้นตอนมุ่งสร้างความเชื่อมั่น “เที่ยวปลอดภัย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารยุทธศาสตร์ สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมรับฟังแนวคิดแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังวิกฤติโควิด-19 ในโครงการ Gastronomy tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร โดยหยิบยกความอร่อยของอาหารในท้องที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นตัวชูโรงร่วมกับการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิด Lanna Gastro-nomy “คิดถึงเชียงใหม่”
โดยมุ่งพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ หรือ Chiang Mai Gastronomy Culture มุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ ด้าน “Molecular Agriculture” เป็นการส่งเสริมรูปแบบการปลูกและจัดการวัตถุดิบท้องถิ่นแบบแม่นยำ มีการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรเชิงอาหาร และมีวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัย ด้วยการประเมินคุณภาพและมาตรฐานการสืบย้อนหลัง ด้านต่อมาคือ “Gastronomy Food Coding” เป็นการพัฒนาอาหารล้านนาด้วยวิทยาศาสตร์ การถอดรหัสนวัตกรรมอาหารล้านนา และการยกระดับ และด้านสุดท้ายคือ “Chiang Mai Food Destination” โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่
โครงการ Gastronomy tourism เกิดจากการระดมความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่ต้อง การฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤติโควิด-19 โดยนำเสนอของบประมาณจากรัฐผ่านจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50,000,000 บาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี และคาดว่า เมื่อดำเนินการแล้วจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการ อันได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้ประกอบการธุรกิจบริการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีรายได้เพิ่มขึ้นรวม 500 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารล้านนาแบบใหม่ และเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวคุณภาพในปี 2564 จำนวน 50,000 คน
ที่ระนอง นายวรานนท์ เกลื่อนสิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวประจำจังหวัดระนอง ได้เป็นประธาน ประชุมระดมสมองผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดของจังหวัดระนอง อาทิ นายธีระพล ชลิศราพงศ์ ประธานหอการค้าระนอง นายสนชัย อุ่ยเต็กเค่ง นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง นายธวัช ใจดี และนายทรงกลด กระจ่างเมฆ ผู้ช่วยดำเนินงานส.ส.ระนอง นายชัยภัทร เศรษฐยุกานนต์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ระนอง ดร. พัฒพงศ์ พงษ์สกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระนอง นางกรรณิกา เอี้ยวตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง นายไชยันต์ มณีรัตน์ กรรมการสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ และประธานหรือตัวแทนเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนต่างๆ ทั่วจังหวัด เป็นต้น
นายวรานนท์กล่าวว่า ผลกระทบเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นการ “ชัตดาวน์” ธุรกิจท่องเที่ยวทั่วโลก และสถานการณ์ยังเปลี่ยนเร็วและรอบด้าน การฟื้นฟูการท่องเที่ยวต้องปรับสู่แนวปฎิบัติใหม่ เพื่อการป้องกันโรคแพร่ระบาด การกำหนดกลยุทธ์และแผนงานจึงต้องรับฟังเสียงสะท้อนปัญหา และความต้องการของพื้นที่อย่างกว้างขวางต่อเนื่อง เพื่อรวบรวมเสนอรัฐบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือแก้ไขฟื้นฟูต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเยียวยาผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยว ให้ประคองกิจการอยู่รอดไปให้ได้ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้กลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19 จะคลี่คลายตามจังหวะการผ่อนปรนมาตรการที่จะค่อยทำเป็นลำดับ ตั้งแต่การเปิดจังหวัด เปิดด่านชายแดน เปิดการเดินทางสัญจรท่องเที่ยวในชุมชน ขยับเป็นจังหวัดหรือเที่ยวข้ามกลุ่มจังหวัด ระยะถัดไปเป็นภายในภาคและขยายเป็นทั้งประเทศต่อไป ซึ่งหน่วยงานระดับชุมชนในพื้นที่ต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งกระทวงมหาดไทยสั่งการท้องถิ่นให้ดูแลฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ หรือการเข้าใช้พื้นที่อุทยาน ซึ่งเป็นที่เปิดโล่งมีอากาศถ่ายเท สามารถจะเปิดได้เป็นลำดับแรกๆ ชุมชนต้องเข้ามาช่วยส่งเสริมการสร้างแบรนด์ การทำตลาดออนไลน์ สร้างภาพลักษณ์เที่ยวระนองปลอดภัย เป็นการตลาดที่จับต้องได้ ควบคู่ไปกับที่ภาครัฐอาจอุดหนุนเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น คูปองช่วยค่าน้ำมัน ค่าอาหาร-ที่พักโรงแรม เป็นต้น
นางกรรณิกา เอี้ยวตระกูล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดระนอง มั่นใจว่าการท่องเที่ยวของไทย และจังหวัดระนองจะกลับมาฟื้นฟูเป็นปกติได้ และอาจจะดีกว่าเดิมก็เป็นไปได้ เนื่องจากประเทศไทยแสดงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประจักษ์ชัดแล้วว่า ท่องเที่ยวหรืออาศัยในเมืองไทยปลอดภัยกว่า
แต่สิ่งที่จะเกิดกับการท่องเที่ยวที่มากับกระแส NEW NORMAL หรือข้อปฎิบัติใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อความปลอดภัยของการท่องเที่ยว ในส่วนของจังหวัดระนองทางสมาคมฯได้รับรายละเอียดแนวงทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวอย่างมั่นใจกันต่อไป
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน 2563