การพลิกวิกฤติให้เก่ง  และแกร่งกว่าที่เคย 

17 มิ.ย. 2563 | 07:53 น.

ผู้นำวิสัยทัศน์  ภัทรพร วงศ์มีศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ, ยูเอ็ม ไธรฟว ประเทศไทย

เมื่อเกิดวิกฤติ ใครๆ ต่างก็ต้องการพลิกวิกฤตินั้น ให้เป็นโอกาส หรือถ้าต้องเคลียร์ให้จบแม้จะเจ็บ หลายคนคงตอบว่า “ยอม” ประสบการณ์ทั้งสองแบบนี้มักเกิดขึ้นในโลกเราอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจระดับมหภาคเช่น การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัส COVID-19 นี้ คำถามคือ เราจะรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะส่งผลต่อธุรกิจของเราอย่างไร?

“Resilience” เป็นหนึ่งในคำที่ถูกอ้างถึงบ่อยครั้งในช่วงเวลานี้ จากหนังสือ On Emotional Intelligence จัดพิมพ์โดย Harvard Business Review ในบทที่ชื่อ How Resilience Works อธิบายว่า Resilience ประกอบด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอน คือ Face Down Reality (การยอมรับความจริง), Search for Meaning (การให้ความหมายและคุณค่ากับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น) และ Continuously Improvise (การเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง)

การพลิกวิกฤติให้เก่ง   และแกร่งกว่าที่เคย 

เพื่อให้เห็นภาพ Resilience อย่างชัดเจน ขอเล่าถึงกรณีศึกษาของประเทศสวีเดนที่จัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเลือกใช้มาตรการที่ยืดหยุ่นกว่าหลายประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสวีเดนไม่มีการปิดประเทศ และประเทศสวีเดนได้นำ 3 ขั้นตอนของ Resilience มาปรับใช้อย่างรัดกุม โดยเริ่มจาก

Face Down Reality:

ประเทศสวีเดนเลือกใช้กระบวนการนี้ โดยอยู่บนสมมติฐานที่เกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติของเชื้อไวรัส ว่า โควิด-19 เป็นเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตในระดับต่ำ และผู้ติดเชื้อสามารถรับการรักษาให้หายได้ รวมทั้งผู้ติดเชื้อยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ขึ้นได้ด้วยตัวเอง และเนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัส COVID-19 โดยตรง ภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศสวีเดนในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสนี้

Search for Meaning:

เพื่อให้การจัดการควบคุมโรคระบาดไม่สร้างผลพวงความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ทางด้านระบาดวิทยาของประเทศสวีเดนได้เลือกใช้วิธีการติดตามตรวจค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างรัดกุม การให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อและกำหนดการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เป็นมาตรการหลักในการควบคุมโรค

Continuously Improvise:

ในขณะที่สถิติของภูมิคุ้มกันหมู่กำลังสูงขึ้นอย่างน่าพอใจ ประเทศสวีเดนกลับพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตสูง เมื่อทำการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงพบว่า ในระยะเริ่มต้นการควบคุมการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวยังเข้มงวดไม่พอ ณ จุดนี้ จึงอธิบายได้ว่าการ Improvise คือ เมื่อผลลัพธ์ของการปฏิบัติเกิดความผิดเพี้ยนไป จำเป็นต้องกลับมาทบทวน ทำความเข้าใจใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และค้นหาจนพบว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด

การพลิกวิกฤติให้เก่ง   และแกร่งกว่าที่เคย 

ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อพิจารณาสถานการณ์ในประเทศสิงคโปร์พบว่า การปิดประเทศส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็ว แต่กลับมีความผิดพลาดและความโชคร้ายเกิดขึ้น คือ มีการระบาดรอบสอง การนำตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ มาเป็นกรณีศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศสวีเดน เพื่อทำความเข้าใจและมองหาทางเลือกที่หลากหลายซึ่งนำไปสู่การจบแบบที่เจ็บน้อยที่สุด เมื่อต้องเผชิญปัญหาที่อาจจะยืดเยื้อในระยะยาว และสามารถพลิกวิกฤให้เป็นโอกาสได้สำเร็จหลังจากที่แก้ไขปัญหานั้นๆ แล้ว

คำว่า Resilience จึงมุ่งหมายถึง คุณลักษณะของจิตใจที่พร้อมตั้งสติยอมรับความจริงอย่างเข้าใจ (Face Down Reality) แล้วจึงค้นหาความหมายของเรื่องราวที่เกิดขึ้น (Search for Meaning) เพื่อลงมือปฏิบัติอย่างรัดกุมบนพื้นฐานความเชื่อ ความศรัทธาในคุณค่าเฉพาะตน และที่ขาดเสียไม่ได้คือ ต้องหมั่นไตร่ตรองทบทวนหาข้อบกพร่องเพื่อเรียนรู้ จนไปถึงแก้ไขปรับปรุงตลอดกระบวนการ (Continuously Improvise) 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18 - 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563