อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งไทยซึ่งมีมูลค่ากว่า 3.5 ล้านล้านบาทเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศควบคู่ไปกับภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว การถูกล็อกดาวน์นาน 2 เดือนส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้ทั้งอุตสาหกรรมหดตัวลงถึง 50%
หนึ่งในแนวทางที่ผู้ประกอบการมุ่งหวังให้รัฐเดินหน้าคือ โครงการ “ช็อปช่วยชาติ” ที่จะเป็นแรงดันกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้ฟื้นกลับมา แต่เมื่อ “ช็อปช่วยชาติ” ยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการค้าปลีกจึงต่างดิ้นรนจัดแคมเปญ “ปิดเมืองเซล” ลดราคาสินค้า ขึ้นเองเพื่อปลุกมูดนักช็อป นับเป็นยาแรงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย แต่ทุกฝ่ายมุ่งหวังจะกระตุ้นยอดขาย ต่อลมหายใจให้กับผู้ประกอบการทุกภาคส่วน
นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจะจัดงานเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ต้องยิ่งใหญ่ จะจัดเล็กๆ ไม่ได้ลูกค้าจะไม่สนใจ และการจะรวมพลังนำคู่ค้า ร้านค้า สถาบันการเงินนับ 1,000 ร้านต้องเกิดจากการพูดคุย เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย และการจัดเป็นครั้งแรกก็ต้องแรงที่สุด ดังนั้น “กรุงเทพมหานคร Shopping Festival” มหานครออนเซล ครั้งนี้จึงมีร้านแบรนด์เนมเข้าร่วมกว่า 200 แบรนด์ ร้านค้าต่างๆ อีกกว่า 3,000 ร้านค้า และมีสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าร่วมกว่า 1 แสนแบรนด์
“ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานใหญ่เช่นนี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 4,000 ล้านบาทในช่วง 38 วัน แต่ก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ที่หายไปจากช่วงที่ปิดบริการ ซึ่งภาคเอกชนคาดหวังที่จะให้รัฐบาลจัดทำโครงการช็อปช่วยชาติอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้คึกคักขึ้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
6 ศูนย์จัดใหญ่ Shopping Festival มหกรรมช็อปปิ้ง
“พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต” แข่งดุ ‘เซ็นทรัล-สยามพิวรรธน์’ ปรับแผนชิงนักช็อปไทย
โปรโมชันสายการบิน หลัง "ไทยแอร์เอเชีย(Thai Air Asia)" เปิดศึกตั๋วบินบุฟเฟต์
เซ็นทรัล อัดฉีดก๊อก 2
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูล-สินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บมจ. เซ็นทรัลพัฒนา หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า นอกจากการจัดแคมเปญ “ช้อปด้วยใจ ไทยช่วยกัน” ตามแผน Rebuild Thailand, Rebuild Economy เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างให้เศรษฐกิจในประเทศคึกคัก
ล่าสุดเปิดตัวแคมเปญ Surprise Sales ระลอก 2 เพื่อกระตุ้นนักช็อปกับโปรโมชันที่ออนท็อปตลอดเดือนกรกฎาคม ทั้ง Wednesday Special สินค้าไอเท็มเด็ดลดราคาพิเศษสูงสุด 70% และดีลซื้อ 1 แถม 1 พร้อมส่วนลด On top, Cash back สูงสุด 12% และคะแนน The1 x 2 ทำให้ประหยัดได้สูงสุด 30-90% ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.-31 ก.ค. นี้
อย่างไรก็ดี ถือเป็นครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั่วกรุงเทพฯ ต่างพร้อมใจกันจัดงานเซลครั้งใหญ่แบบปิดเมืองในครั้งนี้ หลังปลดล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล เซ็นทรัลเวิลด์ โรบินสัน สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ เดอะ มอลล์ ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ เกษร และไอคอนสยาม
ททท.คิกออฟ “แกรนด์ เซล”
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (ททท.) กล่าวว่าการจัดกิจกรรม อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซล 2020 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่15 ก.ค.-15ก.ย. 2563ใน 5 พื้นที่คือกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และพัทยา รวมผู้ประกอบการกว่า 1 หมื่นรายทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่พำนักในไทย ซึ่งได้เพิ่มความน่าสนใจด้วยแคมเปญ 8.8 (วันที่ 8 เดือน 8) จัดกิจกรรมร่วมสนุกตอบคำถาม ออนไลน์แจกบัตรกำนัลของขวัญ จำนวน 4,100 รางวัล รวมมูลค่า 6.6 แสนบาท และแคมเปญ 9.9 (วันที่ 1-9 เดือน 9) จัดกิจกรรมเล่นเกมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Amazing Thailand Grand Sale 2020 แจกบัตรกำนัลของขวัญจำนวน 20 รางวัล รวมมูลค่า 1 แสนบาท
เร่ง “ช็อปช่วยชาติ”
ด้านนายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าสิ่งที่ผู้ประกอบการค้าปลีกคาดหวังคือ อยากให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา รวมทั้งทำโครงการเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เกิดขึ้น เช่น “ช็อปช่วยชาติ” ซึ่งสมาคมได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ และท่านได้ตอบรับที่จะนำไปพิจารณา โดยการนำเสนอครั้งนี้อยากให้มีขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2563 ด้วยวงเงิน 5 หมื่นบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนจับจ่ายในทุกภาคส่วน
ทั้งนี้สมาคมเตรียมขอเข้าพบ ศ.พิเศษดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เพื่อสอบถามความคืบหน้า และแนวทางการทำโครงการช็อปช่วยชาติ เพราะโครงการช็อปช่วยชาติมีความสำคัญ จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เกิดขึ้นได้มาก และหากไม่รีบดำเนินการภายในไตรมาส 3 นี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจและแรงงานในอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่า อุตสาหกรรมค้าปลีกในไตรมาส 3 จะหดตัวลง 30-50%
สั่ง“สศค.”เร่งศึกษา "ช็อปช่วยชาติ"
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงข้อเสนอของผู้ประกอบการค้าปลีกที่ต้องการให้กระทรวงการคลังออกมาตรการช็อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และธุรกิจค้าปลีกว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ สศค. ศึกษาถึงข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการดังกล่าวหรือไม่
หากจำเป็นมาตรการที่จะออกมารูปแบบจะเป็นอย่างไร และจะมีการปรับเปลี่ยนจากที่เคยออกหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ควรนำออกมาใช้ด้วย ซึ่งสศค.จะนำบทเรียนจากการออกมาตรการช็อปช่วยชาติครั้งที่ผ่านมามาเป็นบทเรียนสำคัญในการปรับปรุงการดำเนินการในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตามยอมรับว่า จะยังไม่เห็นมาตรการช็อปช่วยชาติออกมาในเดือนก.ค.นี้แน่นอน เนื่องจากจะต้องให้มาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวมีผลไปสักระยะก่อน ซึ่งหลังจากนั้น สศค.ถึงจะประเมินถึงความจำเป็นอีกครั้ง หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทางสศค.จะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,587 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563