ความผิดไม่ร้ายแรง!
คดีบอส-กระทิงแดง
“โทษเบ๊าเบา”
นับจากวันที่ 3 กันยายน 2555 ถึงตอนนี้เป็นเวลาร่วม 8 ปี ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้พยายามติดตามตัว “บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ควบรถสปอร์ตหรู เฟอร์รารี่ ด้วยความเร็วพุ่งชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจทองหล่อ ขณะขี่รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ และลากไปไกลกว่า 200 เมตร เสียชีวิตอย่างอนาถ บนถนนสุขุมวิท และตำรวจระดับสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ ในขณะนั้น นำตัว “คนดูแลรถ” ในบ้านอยู่วิทยามามอบตัว โดยระบุว่าเป็นคนขับรถชนตำรวจตาย
แต่คดีนี้มีพยานเห็นเหตุการณ์หลายคน และไม่มีใครเชื่อว่า คนดูแลรถเป็นคนขับรถสปอร์ตคันหรูตัวจริง จน “บิ๊กแจ๊ส” พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในสมัยนั้น ต้องเข้าไปเจรจากดดันให้ผู้ต้องหาตัวจริงมอบตัว ในที่สุด "บอส" วรยุทธ อยู่วิทยา จึงรับสารภาพว่า เป็นคนขับรถชนคนตำรวจตายตัวจริงเสียงจริง
ทว่าการดำเนินงานด้านคดีของตำรวจและกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นต้นธารยุติธรรมกลับ “พิการ” เหมือนที่ชาวบ้านพูดกันว่าคุกมีไว้ให้ขังหมา....
กระทั่งปี 2559 ตำรวจสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง “บอส-วรยุทธ” ได้เพียง 2 ข้อหา 1.ข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอายุความ 15 ปี จำคุกไม่เกิน 10 ปี
2.ข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชนซึ่งอายุความ 5 ปี
ขณะที่ข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต คดีถูกปล่อยให้หมดอายุความตั้งแต่ 3 ก.ย.2556
นอกจากนี้ ตำรวจที่ประกาศตนว่าเป็นผู้พิทักษ์กฎหมาย กลับไม่ฟ้อง “บอส-วรยุทธ” ในข้อหาขับรถโดยขณะมึนเมา เหตุผลนะหรือขอรับ ทั้งตำรวจและอัยการพูดเสียงเดียวกันว่า “ระบุไม่ได้ว่าดื่มก่อนขับหรือหลังขับ”..555 ช้ำใจแต๊เจ้า...
ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปโดนคดีกันถ้วนหน้าแน่นอน ไม่ต้องมีการพิสูจน์ว่าดื่มก่อนหรือหลัง ให้เมื่อยตุ้ม
ร้ายกว่านั้น ประชาชนต่างชอกช้ำระกำใจกันทั่วประเทศ เพราะแม้จะมีคำสั่งฟ้องคดี แต่ “ทายาทกระทิงแดง” ก็ได้ขอเลื่อนนัดอย่างต่อเนื่องถึง 8 ครั้ง โดยอ้างเรื่องการป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์ยืนยัน
คดีนี้มีตำรวจถูกตั้งกรรมการสอบคนแล้วคนเล่า สารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ ที่นำแพะ “คนดูแลรถ” มามอบตัว ถูกตั้งกรรมการสอบและถูกสั่งย้ายใน 30 วัน
18 กรกฎาคม 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงสรุปสำนวนส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 10 นาย ฐานช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาไม่ถูกดำเนินคดี
สุดท้าย เมื่อ 25 มิถุนายน 2563 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดตำรวจสน.ทองหล่อรวม 7 นาย “ในความผิดไม่ร้ายแรง ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ”
ในจำนวน 7 นาย มีตำรวจที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว 2 นาย ส่วนอีก 5 นาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ และได้เลื่อนชั้น เลื่อนตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่ เลื่อนเงินเดือนมานานถึง 8 ปี...
ตำรวจที่ทำหน้าที่ให้กระบวนการยุติธรรมบกพร่องจนปัจจุบัน “บอส-วรวุทธ” ยังลอยชายเหนือกฎหมาย เหนือกว่าชาวบ้านทั่วไป แต่มีความผิดไม่ร้ายแรง....มีใครบ้าง เชิญทัศนา...
กรณีมีเจตนาละเว้นไม่ดำเนินคดีกับ “บอส-วรยุทธ” ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และกรณีไม่นำรายงานผลการคำนวณความเร็วของกองพิสูจน์หลักฐาน มาประกอบการทำความเห็นในทางคดีนั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า “พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี” ตำรวจสน.ทองหล่อ ปัจจุบันเติบโตขึ้นเป็นรองผู้กำกับการ มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะ เพื่อให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของ ทางราชการ และประมาทเลินเล่อ ในหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) และตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 23 วรรคสอง
กรณีละเว้นไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ นั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า “พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง” ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ปัจจุบันเป็น ผบก.จ.สมุทรปราการ “พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม” ถูกย้ายไปเป็นรอง ผบก.ภ.จว.ชัยนาท ตอนนี้ก้าวขึ้นเป็นรอง ผบก.อต. “พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล” พนง.สอบสวน สน.ทองหล่อ ปัจจุบัน ผู้กำกับสอบสน บก.น 2 “พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี” รองผู้กำกับการ ปัจจุบันเป็น ผกก.สอบสวน บก.จร. มีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9)
กรณีคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน คดีจราจร 632/2555 ของสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อนั้น ป.ป.ช.มีมติชี้มูลว่า 1.พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว (เกษียณ) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 2.พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ขณะนี้ก้าวขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 (เกษียณ) ในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่กำกับดูแล ติดตาม เพื่อให้การสอบสวนเป็นไป โดยถูกต้องรอบคอบ และเป็นธรรม เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย อันถือเป็นความบกพร่อง ซึ่งมีมูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) เช่นกัน
ป.ป.ช.มีมติส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย กับ พล.ต.ต.กฤษฏิ์ เปียแก้ว, พ.ต.อ.สุคุณ พรหมายน, พ.ต.อ.ไตรเมต อู่ไทย, พ.ต.อ.ชุมพล พุ่มพวง, พ.ต.อ.สัมฤทธิ์ เกตุแย้ม, พ.ต.ท.วิบูลย์ ถิ่นวัฒนากูล และ พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2)
สงสัยกันหรือไม่ครับว่า ความบกพร่องของตำรวจทั้ง 7 คน ซึ่งป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 78 (9) นั้น เขาว่าอย่างไร เขาว่า เป็นความผิดของการไม่รักษาวินัยตามที่บัญญัติเป็นข้อปฏิบัติและข้อห้ามในเรื่อง ดังต่อไปนี้
(9. ) ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความตั้งใจ อุตสาหะเพื่อให้เกิดผลดี หรือความก้าวหน้าแก่ราชการ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ และต้องไม่ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ
กลุ่มความผิดของผู้ต้องโทษวินัยไม่ร้ายแรงอยู่ในกลุ่มไหนบ้าง...อยู่ในกลุ่มนี้ เมาสุราจะเบ่งกินฟรี ก้าวร้าว หาว่าผู้บังคับบัญชาไม่มีน้ำยา บันดาลโทสะชกต่อยภรรยาน้อย ไม่ดูแลภรรยา แชร์ล้ม หนี้สินจำนวนมาก พกปืนหลวงไปในทางสาธารณะนอกเวลาราชการ จดทะเบียนสมรสซ้อน ไม่เลี้ยงดูบุตร เปลี่ยนนามสกุลไม่แจ้งผู้บังคับบัญชา ปลูกสร้างต่อเติมแฟลต (บ้านพักข้าราชการ) โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ
อ้างการจราจรติดขัดไปไม่ทันการเป็นพยานศาล ปล่อยให้ผู้เสียหายรอแจ้งความเป็นเวลานาน ออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุล่าช้าและไม่รับคำร้องทุกข์ลงเลขคดีในทันที ไม่สามารถติดตามผู้เสียหาย พยานมาเบิกความจนศาลยกฟ้อง ไม่เลี้ยงดูภรรยา เกี่ยวข้องหญิงอื่นในทางชู้สาว
สำหรับมาตรฐานการลงโทษวินัยไม่ร้ายแรงของ ตร.กำหนดไว้อย่างไร เขาระบุว่า ให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน ตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด
แต่ช้าแต่ประกาศคำสั่งของตำรวจยังเปิดทางให้อีกว่า “ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษได้เพียงใดนั้น ให้เป็นไปตามตารางกำหนดอำนาจและอัตราการลงโทษข้าราชการตำรวจที่ก.ตร.กำหนด แต่หากมีเหตุอันควรปราณีลดหย่อนผ่อนโทษ จะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้” สวยงามพระราม 1
ส่วนใหญ่ถ้าไม่ปฏิบัติตามระเบียบของตำรวจก่อให้เกิดความเสียหายคือ ภาคฑัณฑ์...หึหึ
ยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพตำรวจเด้อพี่น้อง เพราะประกาศของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น เขียนชัดเป็นแนวทางไว้ว่า ตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษ อัตราโทษ และการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2557 ข้อ 6 ที่กำหนดไว้ว่า โทษกักยามให้ใช้ได้แต่เฉพาะข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งตั้งแต่ผู้กำกับการหรือเทียบเท่าลงมา
โทษกักขังให้ใช้ได้แต่เฉพาะข้าราชการตำรวจตำแหน่งตั้งแต่รองสารวัตรลงมา และส่วนใหญ่โทษกักขังนั้น ตร.เขาระบุโทษกันแค่กักขัง 3 วัน กักยาม 3 วัน...ดีสุดคือ กักขัง กักยาม 30 วัน...555
ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง “ภาคทัณฑ์-ทัณฑกรรม-กักยาม-กักขัง-ตัดเงินเดือน” แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ถึงขั้นไล่ออก ปลดออก ทั้งสิ้น “กักขัง” ในความจริงก็ไม่มีขังอะไร แต่ให้ไม่มีสิทธิ์ได้เลื่อนชั้น เลื่อนเงินเดือน ถ้าภาคทัณฑ์ ยังมีสิทธิ์ได้เลื่อนเงินเดือน 1 ขั้น!
ความผิดไม่ร้ายแรง......ไม่อยากพูดมาก เจ็บคอ ...สงสารประเทศไทย