"ดร.ฤทธี" บอกว่า SAP เป็นการรวมตัวที่นำจุดแข็งของทั้ง 2 บริษัทมาขับเคลื่อนธุรกิจ SCN แข็งแกร่งในเรื่องธุรกิจพลังงาน เป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติครบวงจร มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มูลค่าโครงการกว่า 1 หมื่นล้านบาท บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ในเมียนมาร์ และยังมีความเชี่ยวชาญด้านการหาแหล่งเงินทุนในการขยายธุรกิจ
ส่วน TAS "สารชา" อธิบายว่า TAS มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และการพัฒนาแอพพลิเคชั่น การติดตั้งพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นกัน มีความสามารถทางการทำก๊าซสกปรกให้เป็นพลังงานสะอาด รวมทั้งมีเน็ตเวิร์ตทางด้านงานขายที่แข็งแกร่ง เมื่อทั้ง 2 ส่วนมารวมกัน จึงทำให้ SAP กลายเป้นองค์กรด้านพลังงานที่มีศักยภาพพร้อมเติมโต
"สแกน อินเตอร์ ทำธุรกิจพลังงานอยู่แล้ว เราขายก๊าซ ทำ NGV ธุรกิจเกี่ยวกับการนำก๊าซเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม และทำเรื่องขายรถเมล์ที่ใช้พลังงานสะอาด เราสนใจที่จะไดเวอร์ซิฟายด์ธุรกิจ เพราะช่วงหลังรัฐบบาลสนับสนุนดีเซลมาก เราเลยต้องขยับขยายธุรกิจไปทางอื่น ไปดูธุรกิจที่มันน่าจะเกิดกำไรได้จริงจัง ลูกค้าสามารถประหยัดได้จริง จากโมเดลที่เราเคยขายก๊าซเข้าโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยรูปแบบการลงทุนให้เขาก่อน แล้วเราก็ขายก๊าซให้กับเขา นำมาพัฒนาและปรับใช้กับ SAP" ผู้บริหารหนุ่มของ SCN อธิบาย
โมเดลที่นำมาปรับใช้ ผู้บริหารทั้งสองอธิบายว่า จะมีลักษณคล้ายกับการรับสัมปทานจากเอกชน ในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ หรือ โซล่ารูฟท็อป ให้ แล้วแบ่งรายได้กัน โดย SAP เป็นผู้ลงทุนอุปกรณ์ และดำเนินการติดตั้ง รวมทั้งเป็นเจ้าของ ในอายุสัญญา 15-20 ปี แล้วแต่ตกลง ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ได้ SAP ก็ขายให้กับคู่สัญญา ในราคาที่ถูกกว่าภาครัฐ และเมื่อหมดสัญญาอุปกรณ์ทั้งหมด ก็ยกให้กับคู่สัญญาทันที เป็นธุรกิจการพัฒนาและผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาด เพื่อร่วมลงทุนในสัญญาในสัญญาซื้อขายไฟภาคเอกชน (Private PPA)
เป้าหมายของ SAP จากจุดเริ่มต้น เซ็นสัญญาลูกค้ารายแรกไปเมื่อปลายปีที่แล้ว 4 เมกะวัตต์ และขณะนี้มีลูกค้าที่มีความต้องการรวม 11 เมกะวัตต์ คาดว่าภายในปลายปี 2563 จะมียอดรวม 20 เมกะวัตต์ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 30 เมกะวัตต์ เหตุเพราะธุรกิจสะดุดไปกับวิกฤตโควิด - 19 ทำให้การติดต่อประสานงาน และการขายต้องชะงักไป
"ดร.ฤทธี" บอกว่า ความท้าทายสู่เป้าหมายความสำเร็จของธุรกิจนี้คือ การหาลูกค้าและดำเนินการให้ได้มากและเร็วที่สุด เนื่องจากมองว่า ภายใน 5 ปี ธุรกิจนี้จะเริ่มมีผู้เล่นมากขึ้น การแข่งขันการตัดราคา การให้ส่วนลด ก็จะมากขึ้น ในขณะนี้ SAP ถือเป็นเจ้าแรกที่ดำเนินการ ในขณะที่คนอื่นๆ ก็มองเห็นโอกาสในตลาดเช่นกัน เพราะฉะนั้น การที่มีพาร์ทเนอร์อย่าง TAS ซึ่งมีจุดแข็งทั้งด้านเทคโนโลยี และเน็ตเวิร์คการขาย ทำให้ SAP ได้เปรียบ ทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ เป็นธุรกิจที่นักลงทุนทั้งหลายจะให้ความสนใจ
เขายอมรับว่า SAP ไม่ใช่ First Mover แต่ SAP เป็นคนที่ลงมือทำ และสัมฤทธิ์ผล ไม่ต้องลงทุนหนักเหมือน First Mover ต่างๆ แต่ได้ส่วนต่างของกำไรที่มากกว่า ด้วยโมเดลธุรกิจ และจุดแข็งที่มี หลังจากนั้นคือการขับเคลื่อนให้เร็ว และดึงนักลงทุนเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการขยายธุรกิจ ไปสู่แนวทางธุรกิจมั่นคงยั่งยืนให้ได้ก่อนคนอื่น
แผนหลังจากนี้ คือ การเดินตามเป้า และภายใน 2-3 ปี ก็จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็ตรงกับช่วงที่คาดว่าตลาดจะมีผู้เล่นเข้ามาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น SAP ก็จะเริ่มขยายธุรกิจไปในกลุ่มธุรกิจพลังงานอื่นๆ ด้วยเป้าหมายการสร้างธุรกิจพลังงานยั่งยืนต่อไป
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้าที่ 24 ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563