เป็นที่แน่นอนว่า ตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะหดตัวลง 5-10% และมีมูลค่าเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท จากพิษการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อช่องทางการจำหน่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่ทว่าการเข้ามาของเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มสมาร์ทโฮม ที่มี IOT (Internet of Things) เชื่อว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้อุตสาห กรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับมาฟื้น และคึกคักขึ้น เมื่อแบรนด์ชั้นนำทั้งไทย-ต่างประเทศต่างชิงกันนำเสนอ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในยุค New Normal นี้
นายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า “แอลจี” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรม IOT จะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับกลาง-บนขึ้นไป แต่ในปัจจุบันจากเทรนด์ความนิยมที่มาแรงและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน แปลงไป ส่งผลให้ไลน์สินค้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรม IOT ขยายฐานลงมาเจาะกลุ่มลูกค้าในตลาดระดับกลาง-ล่างมากขึ้น พร้อมทั้งมีการปรับราคาลงทำให้มีราคาสูงกว่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปเพียง 10-15% ส่งผลให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มนวัตกรรม IOT ได้รับความนิยม เข้าถึงง่ายขึ้น มีราคาจับต้องง่าย
สินค้าของบริษัทที่มี IOT เช่น เครื่องซักผ้าราคาเริ่มต้น 2 หมื่นบาท, ตู้เย็นกว่า 2 หมื่นบาท และเครื่องปรับอากาศราคาเริ่มต้นกว่า 1 หมื่นบาทเท่านั้น สำหรับในครึ่งปีหลังนี้บริษัทมีแผนเปิดตัวสินค้าในกลุ่ม IOT ผ่านเทคโนโลยี ThinQ AI ซึ่งเป็นนวัตกรรมเฉพาะในทุกไลน์อัพ ก่อนจะเปิดตัวเครื่องปรับอากาศนวัตกรรม IOT ในช่วงปลายปี และจะเตรียมพร้อมไลน์สินค้าเครื่องใช้ฟ้า IOT ออกมาตอบรับกลุ่มเป้าหมายยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดลูกค้าระดับกลาง-บน หรือกลุ่มพรีเมี่ยม มองว่ากำลังซื้อยังดีอยู่ และภาพรวมตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จะเน้นเปิดตัวสินค้านวัตกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มสมาร์ทโฮมที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ได้ ด้านลูกค้าในกลุ่มกลาง-ล่าง ประเมินว่าในส่วนของกำลังซื้อยังน่าเป็นห่วงอยู่จึงต้องมีการกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการทำโปรโมชันในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการผ่อน 0% นานหลายเดือนเพื่อออกมารองรับความต้องการนับจากนี้
ทั้งนี้บริษัทวางเป้าหมายยอดขายในปีนี้ว่าจะเติบโต 10% โดยพบว่าช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้ ยอดขายของบริษัทเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยพบว่ากลุ่มพรีเมี่ยมพรีเมี่ยมเติบโตกว่า 30% ขณะที่กลุ่มแมส อาจจะเติบโต 0-5% ปัจจุบันกลุ่มสมาร์ทโฮมมีสัดส่วนราว 70% จากสินค้าทั้งหมด
ด้านนายธรรมสร มีรัตน์ผู้กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรบอท เมคเกอร์ จำกัด ผู้นำเข้าและจำหน่าย เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และในครัวเรือน ภายใต้นวัตกรรม AI และ IOT กล่าวว่า กลุ่มสมาร์ทโฮมหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนวัตกรรม AI และ IOT ถือเป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสวนกระแส โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตเพิ่มสูงถึง3 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดูดฝุ่นเติบโตขึ้น 100% เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ทำงานหรือกักตัวอยู่ที่บ้าน จึงต้องการตกแต่งบ้านให้อยู่สบาย ทำให้สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ของตกแต่งต่างๆเติบโตเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด
บริษัทจึงนำเข้าสินค้ากลุ่มดังกล่าวทั้งเครื่องดูดฝุ่นอัจฉริยะ ออโต้บอท (Autobot) ที่มาพร้อมกับนวัตกรรม IOT, เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ เข้ามาทำตลาดและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี และบริษัทเตรียมนำสินค้าใหม่ๆ ออกมารองรับความต้องการและเทรนด์ในตลาดที่มีความเป็น IOT อย่างต่อเนื่อง
“1-2 ปีนี้ เราจะได้การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของ IOT อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งแน่นอนว่าจากช่วงที่ผ่านมาที่กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้านวัตกรรม IOT มักอยู่ในตลาดพรีเมี่ยมและมีราคาแพง แต่ทว่าจากการเทรนด์ของผู้บริโภคและความต้องการของตลาดทำให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้านวัตกรรมออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น พร้อมทั้งมีการปรับราคาลง สร้างเซ็กเมนต์ที่หลากหลายเพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย และกลายเป็นแมสพรีเมี่ยมมากขึ้นโดยปัจจุบันสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า IOT มีราคาต่างจากรุ่นธรรมดาเพียง 20-30% จึงทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น”
นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า “ไฮเออร์” กล่าวว่า บริษัทจะโฟกัสและผลักดันกลุ่มสินค้าในตลาดกลาง-บน ผ่านการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีล้ำสมัย และฟังก์ชันที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ Haier Smart Home เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ในการรองรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีนวัตกรรม IOT ที่มีการเติบโตสวนกระแสภาพรวมตลาดในขณะนี้ โดยประเมินว่าในสิ้นปีนี้ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าพรีเมี่ยมจะเติบโตราว 40% สวนทางกับภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปี 2563 ที่ประเมินว่าอาจหดตัว 5-10% จากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,596 วันที่ 30 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563