ในงาน Digital Transformation for CEO#2 (DTC#2) จัดโดย ฐานเศรษฐกิจ กรุงเทพธุรกิจ และบริษัทเอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)
หลักสูตรที่มีวิทยากรจากองค์กรชั้นนำ มาถ่ายทอดประสบการณ์ กรณีศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยี ให้กับบรรดาผู้บริหารองค์กรชั้นนำของประเทศ
หลังจากที่หยุดไปนาน จากผลกระทบของโควิด-19 ห้องเรียน DTC#2 ได้กลับมาเปิดอีกรอบ ซึ่งครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรมาบรรยายในหัวข้อ DTT: Digital Transform Taxation โดยระบุว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการจัดเก็บและการชำระภาษีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความทันสมัยมากขึ้น เห็นได้จากปริมาณการยื่นแบบชำระภาษีผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ล่าสุดช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมสรรพากรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการคืนภาษีให้กับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านนโยบายต่างๆ โดยช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้ได้คืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคลแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท และหากรวมทุกมาตรการในการให้ความช่วย เหลือด้านภาษี กรมฯ สามารถทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 100,000 ล้านบาทได้
ส่วนการพัฒนาการจัดเก็บภาษีด้วยดิจิทัลนั้น นายเอกนิติเชื่อว่า จะทำให้มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมากขึ้น เพราะจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย และตรงกลุ่มที่ต้องการ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพากรได้พัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บภาษีภายใต้ยุทธศาสตร์ 9 Digital Transformation ประกอบด้วย
1.การยื่นแบบและชำระภาษีผ่านระบบออนไลน์ ด้วยการเปิดให้สตาร์ทอัพ เข้ามามีส่วนร่วมด้วยการเชื่อมโยงระบบกับกรมสรรพากร จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นภาษีของประชาชนมากขึ้น
2.My Tax Account ที่เชื่อมโยงระบบประกันสุขภาพ ประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเงินบริจาคดิจิทัล เข้ากับกรมสรรพากร ผู้เสียภาษีไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลค่าลดภาษีเหล่านี้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสะดวกและง่ายต่อการคำนวณภาษีมากขึ้น
3.E-Donation ระบบคืนเงินภาษีจากการบริจาค ที่กรมสรรพากรจะรวมรวบข้อมูลการบริจาคระหว่างปีให้ทั้งหมดเอง
4.Aree Chatbot ระบบแชทบอทในการตอบคำถามให้ข้อมูลด้านภาษีกับผู้เสียภาษี ซึ่งจะลดต้นทุนในการเดินทางมาติดต่อกรมสรรพากร
5.Tax Refund on promptpay เป็นระบบการคืนเงินผ่านพร้อมเพย์ ที่จะให้ผู้เสียภาษีได้รับเงินภาษีคืนรวดเร็ว เฉลี่ยหากเอกสารต่างๆ ครบถ้วนจะได้รับเงินคืนภายใน 3 วัน ซึ่ง ณ 12 พฤษภาคม มีผู้ยื่นแบบบุคคลธรรมดา ภงด.90/91 เข้ามาทั้งหมด 8.22 ล้านแบบ มีผู้ขอคืนภาษี 2.9 ล้านแบบ โดยมีผู้ได้รับภาษีคืนแล้ว 2.74 ล้านแบบหรือ 95% ของผู้ยื่นแบบทั้งหมด
6.VRT on Blockchain การใช้ระบบบล็อกเชนเชื่อมโยงการคืนภาษีของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยที่ผ่านมาได้เชื่อมโยงในภาคการท่องเที่ยว ที่ให้ผู้ประกอบการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าในประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี
7.E-tax invoice การส่งใบกำกับภาษีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการ โดยจะช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายและเวลาให้กับผู้ประกอบการในการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีในรูปแบบใหม่
8.E-stamp การชำระอากรสแตมป์เป็นตัวเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จากเดิมที่ต้องซื้อสแตมป์ดวงเพื่อชำระภาษี ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการเสียภาษี และเป็นการส่งเสริมธุรกิจในรูปแบบ e-Business ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
9.E-withholding Tax การหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ความสะดวกและลดต้นทุนของการทำธุรกิจในระยะยาว
“กรมสรรพากรเชื่อว่า หากดำเนินการได้ครบทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ จะทำให้ประสิทธิภาพในการยื่นแบบและชำระภาษีของคนไทยดีขึ้นได้อย่างแน่นอน”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3595 วันที่ 26-29 กรกฎาคม 2563