ทีวีดิจิทัล “เรียงช่อง” ส่อเค้าวุ่นอีกรอบ

27 ก.ค. 2563 | 04:08 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2563 | 11:11 น.

สมาคมทีวีดิจิทัลฯ ออกโรง รวมพลังปกป้อง “เรียงช่อง” ส่อเค้าวุ่น ปรับกฏเอื้อ ทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี คนดูหาช่องไม่เจออีกรอบ กสทช.เตรียมรับมือจ่อออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ บนหลักการประนีประนอม

จากกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า ประกาศ “เรียงช่อง” ของ กสทช ปี 2558 ที่ให้โครงข่ายการรับชมทีวี นอกเหนือจากทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี ต้องนำช่องดิจิทัลทีวีที่ผ่านการประมูลมูลค่ารวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท ไปไว้ในโครงข่ายของตน และเรียงหมายเลขช่องตามผลการประมูลของ กสทช. เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง ผลส่งให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ไม่จำเป็นต้องเรียงหมายเลขช่องตามประกาศเดิม ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีขั้นอุทธรณ์ หากผลการพิจารณาคดีเป็นไปตามชั้นต้น จะเกิดความโกลาหลความสับสนกับผู้ชมทีวีในการหาช่องรายการอีกครั้งอย่างแน่นอน

กสทช.เตรียมรับมือด้วยการจ่อออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ บนหลักการประนีประนอม เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ โดยเสนอให้โครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี สามารถจัดเรียงช่อง 1-10 ได้เอง แทนที่ทีวีดิจิทัลช่องสาธารณะที่ขยับไปอยู่ช่อง 11-15 ส่วนช่องทีวีดิจิทัลภาคธุรกิจตั้งแต่หมายเลข 16-36 ยังอยู่ในหมายเลขเดิม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาระหว่างผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัล และผู้ประกอบการโครงข่ายจะหาจุดลงตัวได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็จะมีคดีฟ้องร้องคดีใหม่เกิดขึ้นไม่สิ้นสุด

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มติสมาชิกช่องทีวีดิจิทัลทุกช่อง จากการประชุมสามัญ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงแนวทางการแก้ปัญหา พร้อมสนับสนุนแนวทางประกาศ “เรียงช่อง” ฉบับใหม่ของ กสทช.ภายใต้เงื่อนไขที่ชอบธรรมต่อช่องทีวีดิจิทัลที่เสีย เม็ดเงินประมูลใบอนุญาตมาอย่างถูกต้อง โปร่งใส และสิทธิ์ในการเลือกหมายเลขช่อง คือ ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจทุ่มประมูลของผู้ประกอบการ

“หัวใจสำคัญของการตัดสินใจประมูลใบอนุญาตในปลายปี 2556 คือการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อหลักของชาติ ที่ กสทช.ให้สัญญาว่าแม้ว่าในระยะแรกโครงข่ายของทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน จะยังส่งสัญญานไม่ครอบคลุม จนถึงปัจจุบันผู้ชมก็ยังชมช่องทีวีผ่านทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีกว่า 70% แต่ด้วยประกาศ must carry ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนการเปิดประมูล ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี นำช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ ทำให้ผู้ชมสามารถชมช่องดิจิทัลทีวีได้ทั่วประเทศ"
 

แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาเรื่องหมายเลขช่อง ที่มีการเขย่งจากเลขที่ประมูลได้ไป 10 หมายเลข ก็ถูกแก้ไขด้วยประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ที่ทำให้การเรียงช่องเป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล ที่ง่ายต่อการสื่อสาร และผู้ชมก็จดจำได้และคุ้นเคย ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งมันก็จะเกิดความวุ่นวายส่งผลต่อคนดูและอุตสาหกรรมทีวีไทยครั้งใหญ่แน่นอน

การที่ กสทช.เสนอแนวทางประกาศ เรียงช่องฉบับใหม่ ให้โครงข่ายดาวเทียม, เคเบิลทีวี สามารถเรียงช่อง 1-10 เอง แม้ไม่ถูกต้องในหลักสากลและเงื่อนไขการการประมูล แต่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมเดินต่อไปได้ พึ่งพาอาศัยกัน โดยไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับหมายเลขช่องในปัจจุบัน 

มติสมาชิกก็พร้อมสนับสนุนแนวทางนี้ เพียงแต่ต้องกำหนดกติการ่วมกันไม่ทำให้เกิดปัญหาเดิม เช่น ต้องเป็นช่องบอกรับสมาชิก, ต้องไม่มีช่องทีวีดิจิทัลมาออกอากาศซ้ำ และประเภทช่องรายการใน 1-10 ก็ต้องไม่เป็นคู่แข่งหรือซ้ำแนวทางกับช่องทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นช่อง ข่าว, หนัง,วาไรตี้” นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล(ประเทศไทย) กล่าว

บ่ายวันอังคารที่ 4 สิงหาคม นี้ กสทช.จะจัดประชุมรับฟังความเห็น (focus group) ในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีครั้งที่สอง ซึ่งเจ้าของกิจการ ผู้บริหารระดับสูงของทีวีทุกช่องล้วนตอบรับที่จะไปแสดงพลังและจุดยืนในการปกป้องสื่อหลักของชาติที่ผ่านการประมูลมาอย่างถูกต้อง จะร่วมเสนอความเห็นและหาทางออกร่วมกันโดยยึดประโยชน์สาธารณะของชาติและผู้ชมเป็นสำคัญ