หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งว่า ประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ หรือหลักเกณฑ์การเรียงช่อง โดยให้ทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวี ต้องนำช่องดิจิทัลทีวีไปไว้ในโครงข่ายของตน และเรียงหมายเลขช่อง ตามผลการประมูลของ กสทช. เป็นประกาศที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ไม่ต้องเรียงหมายเลขช่องตามประกาศเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ทุ่มเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาทในการประมูล และสร้างความสับสนให้กับผู้ชมอย่างมาก
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาการเรียงช่องที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สมาคมต้องพูดคุยกับกสทช. ถึงกระบวนการเรียงช่องและหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสน หากต้องมีการจัดเรียงช่องใหม่ ช่องเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมจะเรียงอยู่ช่องใดก็ได้ ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องเสียเงินประมูลมามหาศาล และผู้ชมเองก็จะเดือดร้อน สร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบ
“หากให้เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่องได้เอง และนำทีวีดิจิทัลที่เคยออกอากาศและยุติไปแล้ว กลับมาออกใหม่ ถามว่าจะแฟร์ต่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่มีอยู่และต้องใช้เงินประมูลจำนวนมากหรือไม่”
เพราะกสทช. เป็นผู้ออกประกาศเรียงช่อง และการที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ยอมลงทุนเข้าร่วมประมูลในราคาสูง เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่กสทช. ให้ความเชื่อมั่นว่า จะมีผู้ชมทั่วประเทศ เมื่อเกิดปัญหานี้ กสทช. ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
โดยในวันที่ 4 ส.ค. นี้ กสทช. จะจัดประชุมรับฟังความเห็น (Focus Group) ในกลุ่ม
ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล , โครงข่ายเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ขณะนี้มีผู้ประกอบการเตรียมพร้อมเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก เพื่อรอฟังว่า กสทช. จะมีข้อเสนออะไร และจะออกประกาศเรียงช่องใหม่หรือใหม่
“ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม มาจากรากเดียวกัน อะไรที่ประณีประนอมกันได้ โดยไม่ให้อีกฝ่ายเดือดร้อนมากเกินไป หรืออีกฝ่ายได้โอกาสมากเกินไป เราก็พูดคุยกันได้ และวันที่ 4 จะเป็นเวทีที่คุยกันแบบพี่ๆ น้องๆ เพื่อหาข้อยุติ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทีวีดิจิทัล “เรียงช่อง” ส่อเค้าวุ่นอีกรอบ
กสทช. เคาะแล้ว! ยืดจ่ายค่าใบอนุญาต ทีวี-มือถือ เยียวยาโควิด
ด้านนายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า อยากให้กสทช. บาลานซ์การจัดวางช่องที่ปัจจุบันมีปล่อยทิ้งไว้ (จอดำ) ทั้ง 17 ช่อง ควรจะนำมาจัดระบบใหม่ และทำให้เกิดประโยชน์ วันนี้เคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมก็ต้องอาศัยคอนเทนต์ของทีวีดิจิทัลเพื่อให้ผู้ชมดู ขณะที่ทีวีดิจิทัลก็ต้องอาศัยกล่องรับสัญญาณของเคเบิลทีวีฯ ถือเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน ที่ผ่านมาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม ได้รับผลกระทบมามากและไม่มีการเยียวยาช่วยเหลือ
“ทุกคนเป็นเพื่อนกัน เรารู้ว่าวันนี้ทีวีดิจิทัลก็ยังขาดทุน เราก็เข้าใจ และอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันได้ ใครจะอยู่คนเดียวได้ในธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ อะไรที่พีเอสไอยอมได้ เราก็ยินดีเสมอ”
ด้านนายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา บอร์ด กสทช. กล่าวว่า กรณีการเรียงช่องใหม่นั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและคำตัดสินของศาล ซึ่งเจตนารมณ์ของกสทช. คือต้องการให้ผู้ที่รับชม จดจำช่องได้ง่าย และมีความจำเป็นที่จะต้องออกอากาศในแต่ละแพลตฟอร์ม ด้วยเลขช่องเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าศาลปกครอง ตัดสินว่าเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมมีสิทธิ์เรียงช่องเอง กสทช.ก็ต้องทำตามคำสั่งศาลต่อให้เกิดผลกระทบก็เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และในกรณีช่องที่เคยออกอากาศและมีคนจดจำเลขช่องได้แล้ว ก็ต้องเดาใจผู้ประกอบการเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม เพราะแพลตฟอร์มเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมในความเป็นจริง คงไม่เรียงใหม่หมดทุกช่อง คาดว่าจะมีการเรียงใหม่เฉพาะช่องต้นๆ ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะ ที่เป็นช่องเลขตัวเดียวเพราะเข้าถึงง่าย และมีมูลค่าทางธุรกิจ แต่ช่องที่เป็นเลขสองหลักส่วนใหญ่เป็นทีวีดิจิทัล น่าจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะไม่ทำให้เกิดรายได้คาดว่าคงไม่ขยับทีวีดิจิทัลให้ไปไกลมากกว่าปกติ ซึ่งตอนนี้ก็ทำได้เพียง เตรียมพร้อมรับคำสั่งศาล
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 วันที่ 2-5 สิงหาคม 2563