ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลตัวแทนคุณภาพดีเด่นแห่งชาติ ครั้งที่ 37 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรม Centara Grand & Bangkok Convention Centre at CentralWorld เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวแทนประกันชีวิตที่มีผลงานยอดเยี่ยมและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อวงการประกันภัยไทย
ทั้งนี้ ดร.สุทธิพล เลขาธิการ คปภ. กล่าวตอนหนึ่งว่า การเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในปัจจุบัน นอกจากปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพแล้ว ตัวแทนประกันชีวิตจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม New normal ที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อให้ง่ายและรวดเร็วต่อการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชน ดังนั้น การเป็นตัวแทนประกันชีวิตที่มีคุณภาพนั้นจึงมิได้วัดจากยอดขายหรือเบี้ยประกันชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องพิจารณาจากศักยภาพและคุณภาพที่ดีของการทำหน้าที่เป็นตัวแทนประกันชีวิตด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทางออกของธุรกิจประกันหลังโควิด
เช็กเงื่อนไขกรมธรรม์ผ่าน “กูรูประกันภัย”ก่อนตัดสินใจซื้อ
ซื้อประกันภัยรถยนต์อย่างไรให้คุ้มค่าและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ ในภาวะ New Normal
คปภ.เพิ่มเยียวยาประชาชนกระทบโควิด-19 “คืน-ลด-เบี้ยประกันภัย-ขยายเวลาคุ้มครอง”
การเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านออนไลน์ เทคโนโลยีในมิติต่างๆ จึงเปรียบเสมือนสารตั้งต้นที่เร่งให้ตัวแทนประกันชีวิต จำเป็นต้องปรับตัวและไม่ใช่ปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่จะต้องปรับตัวแบบก้าวกระโดด กล่าวคือ ต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มช่องทางการขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. ได้ออกมาตรการอำนวยความสะดวกในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยโดยอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันมาปรับใช้ในกระบวนการเสนอขาย หรือที่เรียกว่า Digital Face to Face ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ตัวแทนประกันชีวิตยุค New Normal ต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการดึงข้อมูลมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่ออาชีพตัวแทนประกันชีวิตอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญตัวแทนประกันชีวิตต้องรอบรู้กฎกติกาใหม่ๆ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ว่า มีขอบเขตมากน้อยแค่ไหนที่จะไม่ก้าวล่วงข้อมูลที่เป็นส่วนบุคคล รวมทั้งตัวแทนประกันชีวิตต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้า มีความเป็นมืออาชีพ มีความสามารถในการให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหา
มีการวางแผนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบให้กับลูกค้าแบบครบวงจร และต้องมีการบริหารจัดการความรู้ที่มีอยู่เพื่อนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของจรรยาบรรณวิชาชีพมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและบริษัทด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ดังนั้น ในกรอบแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ของสำนักงาน คปภ. ได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญ ไว้ 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัยมีการวางแผนชีวิตที่ดี ได้รับความคุ้มครองด้วยผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สอดคล้องกับความต้องการในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม โดยสามารถเข้าถึงการประกันภัยผ่านช่องทางที่หลากหลาย และได้รับการบริการที่สะดวก
ส่วนที่ 2 ตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนและมีธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ตัวแทนประกันชีวิต หรือ คนกลางประกันภัย มีคุณภาพและมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ วิเคราะห์ความเสี่ยง และให้คำแนะนำการวางแผนทางการเงินแก่ประชาชน
ส่วนที่ 3 ตั้งเป้าหมายให้ ระบบประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างให้เศรษฐกิจและสังคม มีความมั่นคง ทนทาน พร้อมรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สนับสนุนและให้ความคุ้มครองแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชน
“ผมจึงอยากส่งสัญญาณผ่านเวทีนี้ไปถึงตัวแทนประกันชีวิต หรือคนกลางประกันภัยทั่วประเทศ ว่า ทิศทางของแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 และภายใต้สถานการณ์ของ “New Normal” นั้น มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการนำระบบประกันภัยสู่ประชาชน ในขณะเดียวกันตัวแทนประกันชีวิต หรือคนกลางประกันภัย ก็จะมีบทบาทสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการให้ความรู้ด้านการประกันภัยแก่ประชาชน การวิเคราะห์ความเสี่ยงและช่วยให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผนทางการเงินในอนาคตคาดหวังให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชาชนในทุกช่วงวัย
รวมทั้งต้องการให้ตัวแทนประกันชีวิต หรือคนกลางประกันภัย มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือด้านไอทีจนเกิดเป็นตัวแทนสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ตัวแทนประกันชีวิตไอทีอินชัวร์รันส์ เพื่อให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีด้านประกันชีวิตแก่ประชาชน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย