"วัคซีนโควิด" โดสแรกของโลก ผลวิจัยรัสเซีย เชื่อได้แค่ไหน

09 ส.ค. 2563 | 00:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2563 | 01:52 น.

หลังกล้องไซบีเรีย : "วัคซีนโควิด" โดสแรกของโลก ผลวิจัยรัสเซีย เชื่อได้แค่ไหน, เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์ ภาพ: E. Samarin / Mos.ru

 

          12 สิงหาคมนี้จะกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิกฤตโลก เพราะเป็นวันที่รัสเซียจะจดทะเบียนรับรองวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นชนิดแรกนำชาติอื่นๆ ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของวัคซีนโดสนี้ที่รัสเซียเร่งรัดสุดฝีมือเพื่อผลิตขึ้นมา

          หลายคนเปรียบเทียบกับการพัฒนาวัคซีนของสถาบันกามาเลยาในกรุงมอสโกเสมือนการปล่อย “สปุตนิก 1” ดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่สหภาพโซเวียตเร่งแข่งผลิตกับสหรัฐอเมริกาจนเฉือนชนะองค์กรด้านอวกาศชื่อดังอย่างนาซ่า ได้เป็นผู้บุกเบิกยุคสำรวจอวกาศของมนุษยชาติในปีค.ศ.1957 เป็นชาติแรก

          ความเร็วในการพัฒนาที่ตัดหน้าขึ้นมาเป็นเจ้าแรกของโลก ทำให้หลายคนเกิดการตั้งคำถามว่าวัคซีนที่รัสเซียผลิตมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะทุกอย่างดูมาแบบเงียบๆ ขาดรายละเอียดที่ชัดเจน และเร็วเกินไป  ขนาดองค์การอนามัยโลกยังต้องออกมาเตือนให้รัสเซียปฏิบัติตามแนวทางการพัฒนาวัคซีนอย่างถูกต้อง เนื่องจากการขาดการวิจัยอย่างรอบคอบอาจทำให้ผู้รับวัคซีนไม่ปลอดภัยได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไวรัสโคโรนา, โควิด-19, โคโรนา, เกาะติดไวรัสโคโรน่า, เกาะติดไวรัสโคโรนา

"สัญญาณดี" กำลังมา พา "รัสเซีย" พ้นวิกฤติโควิด

"ซี้มาก" ได้เข้าก่อน รัสเซีย แง้มประตูรับคนเข้าเมือง

วัคซีนต้านโควิดจีน ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยชีวภาพ     

"ทรัมป์"คาดสหรัฐได้ใช้วัคซีนต้านโควิดก่อนวันเลือกตั้ง 3 พ.ย.

 

          ด้านนายวาดิม ทาราซอฟ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ Sechenov ของรัสเซียออกมาตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ครั้งนี้ว่า ความสำเร็จครั้งนี้ของรัสเซียเกิดจากความพยายามในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของนักวิทยาศาสตร์รัสเซียที่จะเพิ่มพูนองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาวัคซีนและการแพร่กระจายของไวรัส
วัคซีนของรัสเซียเริ่มวิจัยมาตั้งแต่การแพร่ระบาดเพิ่งเริ่มขึ้นในช่วงต้นปี และเริ่มทดลองมาตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน โดยใช้อะดีโนไวรัสซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดทั่วไปเป็นฐานในการศึกษา ภูมิคุ้มกันที่ตัววัคซีนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างขึ้นใกล้เคียงกับภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ จึงยืนยันว่าสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้โดยไม่เป็นอันตราย อย่าลืมว่ารัสเซียก็เคยได้ร่วมศึกษาไวรัสร้ายแรงระดับโลกอย่างอีโบลาและเมอร์สมาก่อนหน้านี้ ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์แดนหมีขาวสามารถทำงานได้เร็วในการรับมือกับการแพร่ระบาดรอบนี้ด้วย

          ไทยเราเองก็มีส่วนช่วยทำให้การพัฒนารัสเซียครั้งนี้สำเร็จ เนื่องจากสถานทูตไทย ณ กรุงมอสโกได้จับมือให้ความร่วมมือด้านการวิจัยวัคซีน ช่วยประสานส่งตัวอย่างเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาให้แก่นักวิจัยรัสเซียด้วยอีกทาง

          วัคซีนดังกล่าวที่รัสเซียผลิตขึ้นมา ทางการรัสเซียวางแผนไว้ว่าจะเริ่มกระจายฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศในเดือนตุลาคมนี้ โดยจะฉีดให้บุคลกรทางการแพทย์และครูก่อน รัฐบาลรัสเซียเองก็เตรียมทุ่มทุน รับเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายเอง

          นอกจากวัคซีนที่จะจ่อขึ้นทะเบียนในสัปดาห์นี้แล้วสถาบัน Vector ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยไวรัสวิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพของรัฐบาลรัสเซียที่ตั้งอยู่ใจกลางไซบีเรียก็กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่อีกชนิดหนึ่งซึ่งสถาบันอ้างว่าเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยวัคซีนนี้จะมีคุณสมบัติทำลายและขับไวรัสออกจากร่างกายได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองทางคลินิกระยะที่ 2 กับอาสาสมัคร 86 คน ที่ผ่านมาผู้เข้าร่วมทดลองมีผลการตอบสนองที่ดี ไม่ผบผลกระทบข้างเคียง

          แม้สื่อตะวันตกหลายชาติจะออกมาโจมตีเครื่องความน่าเชื่อถือของวัคซีนสัญชาติรัสเซียกันอย่างหนัก แถมก่อนหน้านี้ศูนย์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งสหราชอาณาจักรก็ได้ออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลรัสเซียอยู่เบื้องหลังแฮกเกอร์ที่พยายามขโมยงานวิจัยวัคซีนและวิธีรักษาโควิด-19 ขององค์กร สถาบัน และบริษัทยาต่างๆ ทั่วโลก แต่นักวิทยาศาสตร์และทางการรัสเซียต่างออกมาช่วยกันยืนยันความน่าเชื่อถือของวัคซีนเสียงหนักแน่น

          ส่วนด้านสถานการณ์โควิดในภายในรัสเซียตอนนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อวันเริ่มลดลงมาเหลือราว 5 พันคน จากช่วงพีคที่ขึ้นไปสูงถึงหมื่นคนต่อวัน ทางการกรุงมอสโกซึ่งเป็นจุดที่มีการแพร่ระบาดหนักที่สุดของประเทศก็บอกว่า ยังไงมอสโกก็จะไม่กลับไปล็อกดาวน์ปิดเมืองอีกครั้งแล้ว เพราะเชื่อว่าจุดพีคได้ผ่านพ้นไปแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อ 500-600 คนต่อวันไม่ถือว่าเป็นเรื่องวิกฤต และตั้งใจจะควบคุมให้อยู่ในระดับประมาณนี้ไปจนกว่าจะมีวัคซีนใช้ พร้อมเตรียมยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังทั้งหมดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

          แน่นอนว่าความเร็วคือปัจจัยสำคัญต่อการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนจะผันผวนไปมากกว่านี้ ได้แต่หวังว่าความเร่งรัดของกระบวนการ จะไม่กระทบต่อคุณภาพของผลผลิตที่จะส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของผู้รับวัคซีนโดยตรง


** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย