นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้ทำการสำรวจผู้ประกอบการต่างชาติ คือ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซียและอื่น และผู้ประกอบการไทยที่มีฐานการผลิตในประเทศไทยจำนวน 200 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-15 ก.ค.2563 เกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการหลังเหตุการณ์โควิด-19 พบว่า ผู้ประกอบการต่างชาติให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน ต้นทุนในการผลิต กฎหมายและกฎระเบียบที่เอื้อต่อการนำเข้า-ส่งออก การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ ปัจจัยด้านการบริหารจัดการสุขอนามัย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังคงคำนึงถึงต้นทุนในการผลิตต่ำ เป็นสำคัญนอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สิทธิประโยชน์ กฎหมาย และความชัดเจนในการกำหนดนโยบายคร่าวๆ
โดยนักลงทุนต่างชาติมองเรื่องการลงทุนในไทย โดยเฉพาะจีนมองว่า ไทยสามารถจัดการโควิด-19 ได้ดี แรงงานมีคุณภาพมาตรฐาน แรงงานมีฝีมือ มีภูมิศาสตร์ที่ดีได้เปรียบต่อการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มองว่า แรงงงานมีทักษะ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการลงทุน อย่างไรก็ตามไทยก็ยังมีข้อเสียเปรียบในเรื่องของการเมืองไทยขาดเสถียรภาพ สิทธิประโยชน์ทางการค้ากับบางประเทศยังเสียเปรียบอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป การปรับขึ้นค่าแรงอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินบาทมีความผันผวนกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน โดยผู้ประกอบการมีข้อเสนอแนะด้านนโยบายการค้า การลงทุนและสิทธิประโยชน์ หลังเหตุการณ์โควิด-19 คือ ต้องการให้ไทยกระตุ้นการซื้อขายในประเทศ ระบายสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ ช่วยเหลือด้านภาษีเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อมั่นทางการเมือง
ทั้งนี้ศูนย์ฯมีข้อเสนอแนะด้านการลงทุนภายใต้สถานการณโควิด-19 คือ ไทยควรจะใช้โอกาสจากโรคระบาดผลักดัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตเพื่อสุขภาพ เครื่องสำอางเพื่อสุขภาพ เครื่องมือทางการแพทย์ ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสุขภาพและอาหารเพื่อสุขภาพของโลก พัฒนาเทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
“ หลังโควิด-19 ประเมินว่า ในเรื่องการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติบุญจะหล่นทับ ประเทศเวียดนาม และ เมียนมาร์มากกว่า ในแง่ปริมาณ เนื่องจากความได้เปรียบ ไทย ในแง่ของแรงงานราคาถูก และการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ด้านการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะเวียดนาม ต่างชาติจะย้ายฐานการผลิตไปเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมีพรมแดนติดกับจีนและ อยู่ระหว่างการ upgrade อุตสาหกรรมจากกลางน้ำไปสู่อุตสาหกรรมแปรรูปปลายน้ำมากขึ้น แต่ในส่วนไทยอาจจะมีจุดที่ด้อยกว่าคือค่าแรงแพงกว่า และ การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ นโยบายเศรษฐกิจอาจไม่ต่อเนื่อง แต่ไทย จะมีจุดที่ได้เปรียบในแง่การมีแรงงานมีฝีมือ และ ความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคที่ดีกว่า รวมทั้ง การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป ที่มีมาตรฐานสากลมากกว่า ซึ่งจะทำให้มูลค่าการลงทุนของไทยยังสูงกว่า”
อย่างไรก็ตามแผนการย้ายฐานการลงทุนของผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาในไทย หลังโควิด-19 คาดว่าผู้ประกอบการจีน มีแผนจะมาลงทุนในผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง เพราะไทยมีความพร้อมเรื่องวัตถุดิบน้ำยางข้นที่มีจำนวนมาก ส่วนผุ้ประกอบการญี่ปุ่น มีแผนจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ,ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ , เครื่องมือทางการแพทย์ เนื่องจาก ไทยได้สร้างความน่าเชือ่ถือให้กับนักลงทุนในด้านการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19
กรณีของการขยายฐานการผลิตผู้ประกอบการต่างชาติในไทย ที่ได้มีการเข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้ว คาดว่า อันดับแรกที่มีการขยายการผลิตมากสุดคือจีนจะ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิกส์และชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ด้านไอที เพราะ ไทยมีแรงงานคุณภาพมาตรฐานและพัฒนาได้อีก และรองลงมาคือ ผู้ประกอบการญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้สำนักงานและเครื่องปรับอากาศ , และ มาเลเซีย ในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์
สำหรับสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่ปี 2558-2562 พบว่ามูลค่าการลงทุนของจีนขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งมีมูลค่า 261,706 ล้านบาทโดยจีนลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อสำหรับยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโรงแรม อาหารแปรรูป มากที่สุด รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 73,102 ล้านบาท ฮ่องกง 36,314 ล้านบาท สวิสเซอร์แลนด์ 23,823 ล้านบาท ไต้หวัน 20,087 ล้านบาท และสิงคโปร์ 12,101 ล้านบาท โดยจีนลงทุนในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อสำหรับยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการโรงรม อาหารแปรรูป ซึ่งในปี 2562 มูลค่าการลงทุนด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น 12.8 %