จากกรณีที่ นายศักดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกเรียกเงินใต้โต๊ะ จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อแลกกับการจัดสรรงบประมาณ 2563 ระหว่างการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ว่า มี ส.ส.ในคณะอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว ขอแลกกับการไม่ตัดงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาทโดยขอโครงการขุดบ่อบาดาลลงภาคอีสาน
แต่ นายศักดา อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ส.ส.รายนั้นจึงเรียกเป็นเงิน 5 ล้านบาทจากนายศักดาเพื่อแลกกับการไม่ต้องตัดงบประมาณแทนนั้น การกระทำและพฤติกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 ได้หรือไม่
สำหรับเรื่องนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เคยส่งสัญญาณเตือนเหล่านักการเมือง หรือ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาแล้ว ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทและหน้าที่ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน” ในงานสัมมนาพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 โดยเน้นย้ำไว้ตอนหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดคลิปลับ ส.ส.ตบทรัพย์ อธิบดีกรมน้ำบาดาล
อธิบดีน้ำบาดาลแฉ โดนส.ส.เรียกใต้โต๊ะ 5 ล้าน
แฉวิธีรีดใต้โต๊ะ "ศักดา วิเชียรศิลป์" อธิบดีน้ำบาดาล
"อธิบดีน้ำบาดาล" ยันถูกเรียกใต้โต๊ะแลกงบจริง
เปิดบทสนทนา “อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล” โดนเรียกใต้โต๊ะเงิน 5 ล้าน
การอนุมัติงบประมาณในการบริหารประเทศ หากไม่รอบคอบอาจทำผิดมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะรวมทั้งอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต และต้องคืนเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ยย้อนหลังอีกด้วย
สาระสำคัญของมาตรา 144 คือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ที่ห้ามไม่ให้ ส.ส. แปรญัตติเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขเพิ่มเติมงบประมาณ แต่สามารถแปรญัตติลด หรือ ตัดทอนงบประมาณ รวมทั้งยังห้ามไม่ให้ส.ส. ส.ว. หรือคณะกรรมาธิการ กระทำการใดๆ ที่มีผลก่อให้เกิดการมีส่วนได้เสีย ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ หากฝ่าฝืนอาจถูกให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาลงโทษ
หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการกระทำที่ฝ่าฝืน ผู้กระทำการนั้นจะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ถ้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้กระทำหรืออนุมัติ หรือรู้ว่า มีการกระทำดังกล่าวแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้อยู่ในที่ประชุมในขณะที่มีมติ และให้ผู้กระทำการดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมด้วยดอกเบี้ย
นอกจากนี้ยังบัญญัติห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จัดทำโครงการ หรือ อนุมัติ หรือจัดสรรเงินงบประมาณในลักษณะที่ตนเองมีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม หากพบว่า มีการฝ่าฝืน จะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ดำเนินคดี และเรียกเงินคืน
เมื่อดูจากตัวบทกฎหมายข้างต้นแล้ว สรุปได้ว่า หากมีรัฐมนตรี หรือ ส.ส.ฟากรัฐบาล มีเอี่ยว รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้ อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา144 ที่จะส่งผลถึง "ครม.ประยุทธ์ 2/2" ต้อง "ล้ม" ไปทั้งคณะได้หรือไม่