แผนผัง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC มีผลใช้บังคับใช้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ธันวาคม มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 และภายหลังจากแผนผัง EEC ประกาศแล้ว จะยกเลิกผังเมืองรวมที่บังคับใช้พื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด และระยะต่อไป เตรียมจัดทำผังเมืองรวมขึ้นใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สอดคล้องกับแผนผัง EEC (มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ. EEC) จำนวน 30 อำเภอ (ครอบคลุมพื้นที่ทั้งอำเภอ) และบังคับใช้เมื่อ ผังอีอีซีมีอายุครบ 1ปี หรือ ปลายปีนี้
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมืองระบุว่า การจัดทำแผนผัง จะต้องให้สอดคล้องกับ การพัฒนาเมือง ส่งเสริมให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัย เมืองอุตสาหกรรม รองรับกลุ่มคนเข้าพื้นที่ในระยะยาว สำหรับขั้นตอนดำเนินการจะเป็นไปตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยส่งเสริมการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะสมฐานเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบสมบูรณ์ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก อีกทั่งยังส่งเสริม พัฒนาเมืองให้น่าอยู่และมีความทันสมัยระดับนานาชาติที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในฐานะประตูของภูมิภาคเอเชียในบริบทโลก
สำหรับประโยชน์จากการมีแผนผัง EEC ประเมินว่า ช่วย จะช่วยให้เกิดการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณูปโภค – สาธารณูปการได้อย่างสะดวก ประชาชนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนภาคเอกชน สามารถวางแผนการพัฒนาและการลงทุนได้ชัดเจน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
ทั้งนี้ เขต EEC คลอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ และเน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาวและเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเชื่อม โยงการพัฒนาภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับการดำเนินงานจัดทำแผนผังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ของกรมโยธิการและผังเมืองนั้น พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำแผนผัง EEC ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และให้เป็นไปตามหลักวิชาการผังเมือง โดยการจัดทำแผนผัง EEC ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ของ EEC ทบทวนผังเมืองรวมเดิมในพื้นที่ 3 จังหวัด เพื่อใช้เป็นกรอบ ในการจัดทำ
แผนผัง และมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านกายภาพของพื้นที่ แนวโน้มการพัฒนาของประชากร เศรษฐกิจ และได้นำ (ร่าง) แผนผัง EEC ไปประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง โดยประชุม อย่างเป็นทางการรวม 25 ครั้ง เพื่อนำมาปรับปรุง (ร่าง) แผนผัง EEC ให้มีความสมบูรณ์
แผนผัง EEC มีเป้าหมายในการรองรับการพัฒนาพื้นที่ในอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2580 ครอบคลุมพื้นที่ 8.29 ล้านไร่ และรองรับจำนวนประชากรกว่า 6 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วย แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ครอบคลุม 8 ระบบ โดยแผนผัง การใช้ประโยชน์ในที่ดิน กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ออกเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ดังนี้
- กลุ่มพื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน มีพื้นที่จากเดิม 817,971 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,096,979 ไร่ (เพิ่มขึ้น 3.36%)
- กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม มีพื้นที่จากเดิม 259,769 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 424,853 ไร่ (เพิ่มขึ้น 1.99%)
- กลุ่มพื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม พื้นที่เดิม 5,524,574 ไร่ ลดลงเหลือ 4,850,831 ไร่ (ลดลง 8.13%) เนื่องจากได้กำหนดไว้เป็นพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง อุตสาหกรรม และส่วนหนึ่งถูกกำหนดเป็นพื้นที่โล่ง เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ได้กำหนดไว้บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำ ริมแม่น้ำ และคลองที่สำคัญ ซึ่งสามารถทำเกษตรกรรมได้
- กลุ่มพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่เดิม 1,435,526 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 1,678,753 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2.93%)