ศูนย์ราชการเฉลิม พระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร อาคารสำนักงานให้เช่าของภาครัฐบนที่ดินเกือบ 400 ไร่ นอกจากมีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยแล้ว ยังมีหมุดหมายเป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่าภายใต้การนำของ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) หรือ DAD Asset Development ได้สร้างความปลี่ยนแปลงในหลายมิติให้กับองค์กรและศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยมีรูปแบบการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะสีเขียวเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชุมชนโดยรอบตลอดจนข้าราชการใช้พื้นที่ โดยมีเป้าหมายเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการภายในปี 2568
ศูนย์เชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายการจราจร
สร้างคุณภาพชีวิตคนทำงาน ด้วยการพัฒนาอาคารจอดรถ (อาคารD) ไว้บริเวณด้านหน้า ทางเข้าศูนย์ราชการฯ และเชื่อมต่อระหว่างอาคารด้วย รถ EV Shuttle Bus เชื่อมต่อกับทางเดิน Sky Walk ออกไปยังรถไฟฟ้าสายสีชมพู สถานที่ศูนย์ราชการฯ บริเวณทางออกที่ 3 มีเป้าหมายให้ศูนย์ราชการฯ เป็นศูนย์เชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายการจราจร โดยอาคารจอดรถ D ออกแบบก่อสร้างเป็นอาคารประหยัดพลังงาน โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 324 แผง ผลิตไฟฟ้าได้ 74,163.60 กิโลวัตต์ต่อเดือน ประหยัดพลังงานได้ 11.03% ต่อเดือน
ชู BCG Model บริหารอาคาร
ขณะเดียวกันยังเพิ่มเติมด้วยการศึกษาดูงานโครงการ Smart City มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโครงการบ้านผีเสื้อ ต้นแบบการอยู่อาศัยแห่งอนาคตที่พึ่งพาพลังงานสะอาดจากโซล่าเซลล์ และไฮโดรเจน นำไปใช้ประโยชน์ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ด้านการส่งเสริมบริหารจัดการอาคารด้วย BCG Model โดยจะยกระดับศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เป็น “ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนตํ่า” ภายในปี2570 ปัจจุบันทยอยดำเนินการหลายส่วน เช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การให้บริการรถรับ-ส่ง พลังงานสะอาด EV Shuttle Bus การใช้นวัตกรรมเพื่อบริหารจัดการนํ้าเป็นต้น
อาคารธนพิพัฒน์ ต้นแบบ Net Zero
ปีงบประมาณ 2568 ได้จัดสรรงบ 32 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารกักเก็บพลังงาน เพื่อจ่ายให้กับอาคารธนพิพัฒน์ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานของ DAD คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดระบบใช้งานได้ในปลายปี 2568 มีเป้าหมายยกระดับ “อาคารธนพิพัฒน์” เป็นต้นแบบอาคารพลังงานเป็นศูนย์ Net Zero building พร้อมเตรียมจัดอีเวนท์ใหญ่ เปิดพื้นที่เมืองสีเขียวทันสมัยจาก นวัตกรรม นำนํ้ามาใช้ระบบพลังงานทางเลือกที่เป็นไฮไลต์ ตึกใหม่ (C) ชั้น 11 เป็นลู่วิ่งลอยฟ้า สนามออกกำลังกายในทุกกลุ่มวัย ยังไม่รวมลู่วิ่งกลางแจ้งและติดแอร์ สนามกีฬา ท่ามกลางพื้นที่เขียว
ย้อน3แนวคิดพัฒนา
การทำงานด้านการพัฒนาเมือง DAD เริ่มจากการแก้ปัญหาการจราจร ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกรุงเทพ มหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรแบบบูรณาการร่วมกัน เช่น ตัดถนนระบายการจราจรเพิ่มเติม ถนนหมายเลข 8 เชื่อมต่อไปยังถนนกำแพงเพชร 6 เพื่อเชื่อมต่อไปยังถนนวิภาวดีรังสิต ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว การตัดถนนหมายเลข 10 เชื่อมต่อศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กับถนนประชาชื่น ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว
ด้านแนวความคิด Urban Space “ต้นแบบเมืองสีเขียว คาร์บอนตํ่า” เริ่มพัฒนาขึ้นในตั้งแต่ปี 2563 ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ด้วย 3 แนวคิดหลัก ได้แก่
1. พัฒนาเมืองให้ส่งเสริมการเดินเท้า Walkable City ลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัว เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า
2. ปรับพื้นที่เป็นพื้นที่สวนสาธารณะ เพื่อให้ผู้คนใช้งานและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ Healthy City
3. พัฒนาเป็นเมืองคาร์บอนตํ่า Low Carbon City ลดการปล่อยคาร์บอนในพื้นที่
แนวคิดดังกล่าวจะช่วยให้เกิดพื้นที่สีเขียวในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติเพิ่มอีกประมาณ 40.6 ไร่ จากการปรับพื้นที่ว่างให้เป็นสวนรวม 5 แห่ง ปลูกต้นไม้สายพันธ์ต่างๆ ซึ่งโครงการที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวนี้ จะทำให้ทั้งศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ มีพื้นที่ที่สีเขียวรวม 145 ไร่ หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นการยกระดับเป็นพื้นที่ปอดแห่งใหม่ของ กรุงเทพมหานคร และเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่สุดย่านแจ้งวัฒนะ ตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ดร.นาฬิกอติภัค สะท้อนว่า การพัฒนาพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ บนเนื้อที่เกือบ 400 ไร่ ได้มีการออกแบบและวางรากฐานไว้อยู่แล้วให้เป็นอาคารเขียว โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน เริ่มจากการออกแบบที่ลดพื้นที่ผนังภายนอกอาคาร ด้วยการทำให้เป็นอาคารเล็ก ๆ หลายอาคารติดรวมกันเป็นกลุ่ม จะช่วยลดความร้อนจากผนังเข้าสู่อาคาร
ลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ หรือการออกแบบภายนอกให้เป็นอาคารผนังเอียง ลดการตกกระทบของแสงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งช่วยลดความร้อนเข้าสู่อาคารได้ถึง 8 เท่า รวมถึงการออกแบบให้มีการนำแสงจากธรรมชาติเข้าสู่ภายในตัวอาคาร นอกจากนี้ ยังใช้นวัตกรรม District Cooling System หรือระบบจ่ายนํ้าเย็นจากศูนย์กลางที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน โดยลดพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 107,305.3 MWh คิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 4 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 46,892.41 ตัน
พร้อมสรุปในตอนท้ายว่า การคิดและการออกแบบทั้งหมดตั้งแต่ต้นของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯแจ้งวัฒนะ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้มาใช้บริการและชุมชนโดยรอบ เพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบคาร์บอนตํ่าอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับในระดับโลก
นี่คือ พื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าของรัฐแห่งแรกในไทยต้นแบบเมืองสีเขียวคาร์บอนตํ่านอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่แล้ว ยังส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนทำงาน สังคมรอบข้างที่น่าจับตายิ่ง !!!
หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568