ฟังเสียงประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง

19 ส.ค. 2563 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2563 | 12:49 น.

ฟังเสียงประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3602 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-22 ส.ค.2563 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

ฟังเสียงประชาชน

แก้รัฐธรรมนูญ

ปฏิรูปการเมือง
 

     การชุมนุมของเยาวชน นักศึกษา และประชาชนขณะนี้ จะใช้ชื่ออะไรก็ตาม แต่ย่อมถือเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนส่วนหนึ่งในสังคม เป็นสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ของผู้ที่มีความคิดเห็นในทางการเมือง และต้องการแสดงออกให้รัฐบาลผู้ปกครองประเทศรับรู้ แม้ข้อเรียกร้องในเบื้องแรกจะยังไม่ชัดเจน มีความสุ่มเสี่ยงเอียงซ้ายสุดโต่ง พาดพิงเกี่ยวข้องไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมิบังควรก็ตาม
 

     แต่เมื่อรู้ว่าไปไม่รอดและถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคม พวกเขาจึงหันกลับมายืนอยู่ตามข้อเรียกร้องเดิม คือ ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และ ยุบสภา ให้มีการเลือกตั้ง ส่วนการหยุดคุกคามผู้ชุมนุม ก็เป็นเพียงข้อเรียกร้องพ่วงที่ไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ออกหมายจับ 6 แกนนำ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ผิดข้อหา ม.116 
ม็อบ “คณะประชาชนปลดแอก” อ่านแถลงการณ์-ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว
ศาลอนุมัติออกหมายจับ 15 แกนนำม็อบนักศึกษา
เชิญอธิการบดีถกปม"ม็อบนักศึกษา"

กางชื่อ 105 คณาจารย์ หนุน ม็อบธรรมศาสตร์
 

     ส่วนรูปแบบการชุมนุมเคลื่อนไหว ที่มีการใช้คนหนุ่มสาวเยาวชนเป็นกำลังหลัก และขยายไปยังเด็กนักเรียนมัธยม ครู ที่กลุ่มการเมืองเคยใช้เวลาเข้าไปเคลื่อนไหวจัดตั้ง บ่มเพาะมาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ ผลักดันให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยวิธีใช้ฮีโร่ตัวละครในนิยาย หรือภาพยนต์ที่เด็กชื่นชอบมาเป็นต้นแบบตัวนำเรื่อง แสดงออกโดยสร้างม็อบ หรือกิจกรรมผลุดขึ้นที่โน้นบ้าง ที่นี่บ้างก็เป็นยุทธวิธีเรียกความสนใจ ทำให้ดูแบบคนน้อยแต่ทำเหมือนเยอะมีมาก เพราะใช้โซเชี่ยลเป็นตัวขยายผล ใช้สื่อช่วยตีปี๊ปสร้างข่าวต่อๆ ถึงสังคม

     ถามว่าม็อบจุดติดไหมก็ตอบได้เพียงว่า ได้ระดับหนึ่ง ดูมีสีสัน แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเอาชนะทางการเมืองได้หรอก เพราะชัยชนะทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่คนน้อยคนมาก หากแต่อยู่ที่ประเด็นข้อเรียกร้อง มีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง สอดคล้องกับความคิดเห็นและความเรียกร้องต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ และได้รับการสนับสนุนจากสังคมหรือไม่ต่างหาก
 

     ถ้าจะให้รับฟังความคิดเห็นของเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้อย่างพินิจและเข้าใจ ตัดประเด็นเรื่องม็อบมีขบวนล้มเจ้าหนุนหลังออกไป ฟังแบบทิ้งกากเอาแก่นว่างั้นเถอะ เห็นมีประเด็นที่น่ารับฟังเพียงประเด็นเดียวคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการเมืองใหม่ หยุดการเมืองในรูปแบบปัจจุบัน ไม่ว่าในแบบเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภา แบบนักการเมืองโกงกินในอดีต เพื่อสร้างรากฐานและอนาคตที่ดีแก่ลูกหลานเท่านั้น
 

     ที่เป็นสาระแก่การรับฟัง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ ก็เป็นประเด็นเดียวกันกับข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ ประชาชนที่เคยร่วมกันเรียกร้องกับกลุ่ม กปปส. ที่ให้มีการปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง จำนวนหลายสิบล้านคน จนนำมาสู่การรัฐประหารและมีรัฐบาลชุดปัจจุบัน การชุมนุมของเด็กดังกล่าว โดยสาระที่จับต้องได้จึงเป็นแค่การมาทวงสัญญาเดิม ที่ คสช.และรัฐบาลเคยสัญญา แต่ยังไม่ได้ทำเท่านั้นเอง ซึ่งถือเป็นโจทก์ใหญ่และเป็นกรรมเก่าที่ติดตัวรัฐบาล
 

     การรับมือกับม็อบครั้งนี้ จึงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจะไปวิตกเกิดเหตุ หรือใช้วิธีจัดการที่รุนแรง ถูกต้องที่สุดแล้วที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณ ให้ใช้วิธีที่ละมุลละม่อมห้ามใช้ความรุนแรงใดๆ ที่สำคัญต้องคอยระวังพวกบ่างช่างยุทั้งในและนอกประเทศให้ดี รวมถึงพวกลัทธิซ้ายสุดโต่ง ขบวนการล้มเจ้า พวกอาจารย์นอกรีดและพรรคการเมือง ที่นิยมการปฏิวัติแบบฝรั่งเศส ที่แอบอยู่หลังเด็ก เพราะหากลำพังขบวนการนักศึกษา ประชาชนที่บริสุทธิ์เหล่านั้น ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะก่อความรุนแรงใดๆ ได้ เว้นแต่มีกำลังส่วนอื่นๆ ถือโอกาสฉวยสถานการณ์เข้าผสมโรงเท่านั้น การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การเคลื่อนไหวอยู่ในขอบเขตที่ของกฎหมาย ตามสิทธิ เสรีภาพ ภายใต้รัฐธรมนูญจึงชอบแล้ว

     สิ่งสำคัญที่รัฐบาลและผู้นำประเทศต้องรับฟังและยอมรับความจริงขณะนี้ก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ใช้ในปัจจุบันแม้จะเป็นฉบับถาวร แต่ก็ดูเหมือนตั้งใจร่างขึ้นมาใช้ชั่วคราว ร่างไว้เพื่อให้แก้ไม่ใช่เพื่อใช้เป็นหลักของบ้านเมืองตลอดไปแต่อย่างใด และการเมืองการปกครองของประเทศขณะนี้ ที่มีรัฐบาลจากชุด คสช.มาผสมกับการเมืองเก่า นักการเมืองเก่าที่เคยรับใช้ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์เผด็จการรัฐสภาในอดีตที่ ร่วมมือกับรัฐบาลก่อน โกงทุจริตจนบ้านเมืองแทบล่มสลายมาแล้วนั้น ประชาชนส่วนใหญ่มิได้ให้การยอมรับ เป็นแต่เพียงให้โอกาสและจำยอมรับการเข้ามาของนายกรัฐมนตรีเพียงชั่วคราว เพื่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่ประชาชนทั้งชาติยอมรับร่วมกัน ด้วยเหตุแห่งความจำเป็นของสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น
 

     ด้วยเหตุนี้ เชื้อไฟทางการเมืองเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศจึงยังมิได้ดับมอดไป ตราบใดที่รัฐบาลมิได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและจริงใจ ประเทศไทยเคยมีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้ว หลังเหตุการณ์การยึดอำนาจของ รสช.เมื่อปี 2535 จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งในที่สุดก็มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2540 ที่เรียกว่าเป็นฉบับปฏิรูป หรือฉบับประชาชน
 

     ดังนั้น หากจะมีการรับฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่เฉพาะเสียงเด็กที่ออกมาเรียกร้องเท่านั้น เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องการความจริงใจของรัฐบาลในการจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากคณะบุคคลตัวแทนประชาชนทุกๆ ฝ่าย ที่เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพื่อเป้าหมายในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศทางการเมืองใหม่เสียที หากรัฐบาลต้องการ "รวมไทยสร้างชาติ" จริงๆ นายกรัฐมนตรีจึงสมควรเป็นผู้ริเริ่มและเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เพื่อทำตามสัญญาก่อนการลงสู่อำนาจอย่างสง่างามเมื่อวาระนั้นมาถึง
 

     นี่คือทางเลือกทางรอดของประเทศจากวิกฤติทางการเมือง ผู้เขียนเชื่อด้วยความสุจริตใจว่า หากนายกรัฐมนตรีกล้าหาญและประกาศจุดยืนของตนเช่นนี้ บ้านเมืองก็จะเดินหน้าไปได้ ไฟการเมืองก็จะค่อยๆ ดับลง สังคมก็จะมีความหวัง มีทางออกที่ดี ท่านนายกรัฐมนตรีเคยฝ่าวิกฤติโควิดมาได้อย่างสง่างามด้วยความสำเร็จ เป็นที่ชื่นชมไปทั่วโลก เพราะเชื่อหมอฟังผู้ทรงคุณวุฒิ
 

     ท่านแก้วิกฤติด้านความยุติธรรม ที่ประชาชนเสื่อมศรัทธาตำรวจอัยการมาได้ เพราะได้บุคคลที่สังคมศรัทธายอมรับเชื่อถือมาเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง ท่านมีผลงานมากมายในช่วงเวลาที่บริหารบ้านเมือง และวันนี้ท่านจะรอดวิกฤติทางการเมืองไปได้แน่นอน
 

     ถ้าท่านได้คณะบุคคลที่สังคมให้ความเคารพนับถือในทางการเมือง มานำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นธงชัยแก่การปฏิรูปการเมืองของประเทศ อย่างจริงจังและจริงใจจนเห็นผลสำเร็จ ตามที่ประชาชนทั้งประเทศคาดหวัง ตัดสินใจทำเถอะครับ สมควรแก่เวลาด้วยประการทั้งปวงแล้ว