ค้าปลีก Q4 ส่งสัญญาณฟื้น  ลูกค้าเพิ่ม อีเวนต์จองยาวข้ามปี

04 ก.ย. 2563 | 04:11 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2563 | 11:11 น.

 ค้าปลีกลุ้นไตรมาส 4 ฟื้นตัว หลังส่งสัญญาณคึกคัก ยอดจองพื้นที่จัดอีเวนต์เริ่มขยับเต็มถึงปีหน้า

ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มชัดเจนจากผลประกอบการในไตรมาส 2 ที่ออกมา โดยพบว่าบริษัทใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น CRC หรือกลุ่มเซ็นทรัล รีเทล ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายได้ในครึ่งปีแรก 9.56 หมื่นล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขาดทุนสุทธิ 1,629 ล้านบาท ลดลง 5,831 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการมาตรการรัฐที่ควบคุมกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ทำให้ห้างค้าปลีกทั้งในไทย เวียดนามและอิตาลีต้องหยุดให้บริการชั่วคราว รวมไปถึงรายได้จากการขายสินค้าในกลุ่มแฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และอาหาร ต่างได้รับผลกระทบเช่นกัน

 

ขณะที่ บมจ. เซ็นทรัลพัฒนาหรือ CPN ด้วยโครงสร้างธุรกิจที่แข็งแรงและผลประกอบการใน 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) อยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ศูนย์การค้าทั้ง 34 แห่ง (ในประเทศไทย 33 แห่ง และมาเลเซีย 1 แห่ง) จะต้องปิดบริการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐนานเกือบ 2 เดือน ส่งผลให้รายได้ในไตรมาส 2 ทั้งจากธุรกิจการเช่าและบริการในศูนย์ ลดลง 61% , ธุรกิจบริการศูนย์อาหารลดลง 83% , ธุรกิจโรงแรมลดลง 99.9% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลดลง 35% ทำให้ผลประกอบการในครึ่งปีแรกยังทำกำไรได้ 1,890 ล้านบาท

 

เช่นเดียวกับ CPALL หรือ บมจ. ซีพีออลล์ ผู้บริหารร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” และ “แม็คโคร” ซึ่งผลประกอบการโดยรวมในไตรมาส 2 ก็ได้รับผลกระทบมีรายได้รวม 1.28 แสนล้านบาท ลดลง 10.6% และแม้เซเว่น อีเลฟเว่นและแม็คโครจะไม่ถูกล็อกดาวน์ปิดให้บริการ แต่ก็ถูกจำกัดเวลาเปิด-ปิด จากการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือเคอร์ฟิว ทำให้ไม่สามารถเปิดได้ตามช่วงเวลาปกติ แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้อสินค้าใกล้บ้านและสินค้าในปริมาณมาก ทำให้ทั้งเซเว่น อีเลฟเว่นและแม็คโครได้รับอานิสงส์ไปด้วย ทำให้ภาพรวมในครึ่งปีแรกมีรายได้ลดลงเพียง 2.8% มีกำไรสุทธิ 8,532 ล้านบาท ลดลง 19%

ค้าปลีก Q4 ส่งสัญญาณฟื้น  ลูกค้าเพิ่ม อีเวนต์จองยาวข้ามปี

อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการต่างๆของภาครัฐที่เฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทำให้เริ่มคลี่คลายและธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการได้เกือบ 100% แต่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกยังต้องลุ้นใน 3 ปัจจัยคือ โควิด-19 (ระลอก 2), การเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และกำลังซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องวางแผนรับมือเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและปลุกมูดการจับจ่ายในไตรมาส 4 ซึ่งเป็นไฮซีซันของธุรกิจ

 

โดยเฉพาะห้างและศูนย์ใจกลางเมืองและเมืองท่องเที่ยวที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์ , ไอคอนสยาม รวมไปศูนย์การค้าในพัทยา, ภูเก็ต, เชียงใหม่ ฯลฯ ซึ่งหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังมีต่อเนื่อง การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด อาจทำได้ยาก และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของห้างและศูนย์ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และเข้าสู่สถานการณ์ปกติได้อย่างเร็วสุดในครึ่งปีหลังของปีหน้า

ค้าปลีก Q4 ส่งสัญญาณฟื้น  ลูกค้าเพิ่ม อีเวนต์จองยาวข้ามปี

ดังนั้นผู้ประกอบการห้างและศูนย์การค้าจะยังคงมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยเป็นหลัก แม้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้จะยังมีความขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง แต่ในกลุ่มระดับกลางขึ้นบน ยังมีกำลังซื้ออยู่ แต่จะมีการใช้จ่ายระมัดระวังขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้หากรัฐบาลมีมาตรการที่มาช่วยกระตุ้นและดึงดูดให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้น

 

นางสาวจิตตินันท์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ ส่วนงานพัฒนาธรุกิจและการตลาด ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมในเดือนสิงหาคมเริ่มมีการจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น เห็นได้จากจำนวนทราฟฟิกที่เข้ามาใช้บริการลดลงเฉลี่ย 10% ขณะที่ระหว่างสัปดาห์จะลดลงราว 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเป็นหลัก

 

“วันนี้กำลังซื้ออาจจะยังไม่กลับมาเท่าเดิม แต่จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเริ่มคึกคักขึ้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี ทั้งนี้เชื่อว่าไตรมาส 4 จะฟื้นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในศูนย์การค้าหรือห้างรอบนอกที่จับกลุ่มลูกค้าคนไทย ไม่ได้อิงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ”

ค้าปลีก Q4 ส่งสัญญาณฟื้น  ลูกค้าเพิ่ม อีเวนต์จองยาวข้ามปี

ทั้งนี้จะเห็นว่ากิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดโปรโมชัน, อีเวนต์ ฯลฯ เริ่มกลับมามากขึ้นและการจัดแต่ละครั้งก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ตลาดนัดชุมชน ฯลฯ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ต่างๆ ภายในศูนย์ถูกจองล่วงหน้าเพื่อจัดกิจกรรม จนถึงต้นปีหน้า

 

“ในไตรมาส 4 ศูนย์เตรียมจัดอีเว้นต์ทั้งใหญ่ กลางและเล็ก แบ่งเป็นอีเว้นต์ใหญ่ 3 รายการ อาทิ Zweet Mania…หวานตามใจอยาก, คริสมาสต์, เคาน์ดาวน์ปีใหม่ เป็นต้น ขณะที่จำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นใกล้เคียงกับปีก่อน และทำให้ทั้งปีมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้” 

 

หน้า 21-22 หนังสือฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,606 วันที่ 3 - 5 กันยายน พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดัน “ช้อปช่วยชาติ” ปลุกกำลังซื้อ

จับตา 5 ธุรกิจมาแรง  เร่งปรับแผนดึงกำลังซื้อฟื้น

"โควิด"ฉุดกำลังซื้อ คาดค้าปลีกปี63 หดตัว 5-8%